เรื่องและภาพบุคคล: กองบรรณาธิการ
ภาพกรุงเทพฯ จมฝุ่น: Christopher Gimmer
อ่าน สามัญชน พรรคที่มีนโยบายสิ่งแวดล้อมเฟี้ยวฟ้าวที่สุด ตอนที่ 1 ได้ ที่นี่
3.
Pepperoni: “ทราบมาว่านอกจากนโยบายต่างๆ พรรคสามัญชนพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมด้วย ช่วยยกตัวอย่างหน่อยได้ไหมคะ ?”
สุรพันธ์: “เวลาติดต่อราชการเราเจอข้าราชการวางท่าเป็นเจ้านายบ่อยมาก บางครั้งไม่ให้ชาวบ้านใส่รองเท้าแตะมารับฟังการพิจารณาคดีในศาล แต่ตอนนี้เราก็ทำให้เขายอมรับแล้ว ปกติตอนขึ้นศาลเกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องสิ่งแวดล้อม พวกผมมักจะเป็นจำเลยตลอด ต้องใส่กุญแจมือ เป็นธรรมเนียม แต่พอพวกผมเป็นโจทก์ฟ้องนายทหารที่ส่งคนมาซ้อมชาวบ้านเพื่อเปิดทางให้ขนแร่ทองคำ นายทหารกลายเป็นจำเลยบ้าง ตำรวจกลับนั่งเหงื่อตก ไม่กล้าเอากุญแจไปใส่ ศาลบอก ใส่สิๆ จนสุดท้ายก็ใส่ เกิดการเปลี่ยนแปลง แม้แต่ลูกน้องศาลที่เคยพูดกับพวกเราว่า ‘โอ้โห มาเป็นฝูงเลย’ มันเห็นเราเป็นวัวเป็นควายเหรอ เราไปฟ้องผู้พิพากษา จนเขาขอโทษแทนลูกน้องที่ไปดูถูกชาวบ้าน
“สิ่งที่เขาทำ ผมไม่ได้มองว่าเขาเห็นเราต่ำต้อยจริงๆ แต่เป็นการทำให้เราไม่กล้าพูด เหมือนเขาเป็นนาย ความจริงแล้วตรงกันข้าม ยิ่งเราโดนกดดัน ถูกข่มขู่ เรายิ่งอยากขึ้นมา ผมว่าอยู่ที่เรารู้สึกตัวเอง เรามีสิทธิทางอาหาร เรามีสิทธิทางอากาศ เรามีสิทธิตั้งแต่เกิด แต่เราโดนรัฐจำกัดสิทธิว่าที่ดินตรงนี้ต้องทำเหมือง ชาวนาเคยทำนาอยู่ดีๆ ไล่ชาวนาออกทางอ้อม ผมว่าสิทธิในที่อยู่อาศัย เป็นสิทธิแรกๆ เลยที่เป็นสิทธิมนุษยชนสากล การต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมตอนนี้เราแตะสิทธิมนุษยชน แตะสิทธิทางการเมืองแล้ว ซึ่งฝรั่งเขาถือว่าปกติ ตอนแรกพี่น้องเราก็ไม่เข้าใจ คิดว่าการเมืองคือเรื่องน้ำเน่า ไม่ต้องสนใจก็ได้ แต่จริงๆ แล้วเกี่ยวกับชีวิตเราหมดเลย
“ถ้าเป็นคนกรุงเทพจะบอกว่าพวกเราชอบขวางการพัฒนา คนต่างจังหวัดก็จะบอกเราหัวแข็ง นายมาแล้วหือหา จะนั่งก็ต้องนั่งเท่าเทียมกัน แต่ผมคิดว่าถ้าเราต่อรองทางการเมือง หรือต่อรองทางทรัพยากร เราต้องนั่งเท่ากันตลอด ถ้าเรานั่งสาดนั่งเสื่อ เขาก็ต้องลงมานั่งเหมือนเรากันหมดเพื่อจะคุยกันง่าย บางคนเขาพูดกับเราว่าไม่ยอมนั่งนะ เขาไปที่ไหนก็มีคนเชิญ มีเก้าอี้ให้นั่ง
“ทุกที่ที่สู้ชนะต้องสู้โดยที่คิดว่าเราเท่ากับเขา ผมคุยกับพรรคพวกที่แคนาดา เขาถึงการต่อสู้เรื่องทรัพยากรของเขา ว่าเขาสู้ในประเด็นวัฒนธรรมที่จะสูญหาย สู้ว่าการทำเหมืองทองคำจะทำให้ปลาแซลมอนไม่มีที่วางไข่ ทำให้ปลาตายและทำให้แหล่งอาหารของชนพื้นเมืองไม่มี พูดเรื่องสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ไม่เป็นธรรม อย่างบ้านเรามักจะต้องสู้กับ FTA แถวอเมริกาจะเป็นพวก NAFTA
“คนที่ไม่เข้าใจเราบอกว่าเราเป็นคนหัวรุนแรง กระด้าง เพราะพอเราสู้ไปมากๆ เรารู้ว่าเราต้องสู้เชิงอำนาจมากขึ้น ไม่ใช่ไปขอร้องรัฐว่าต้องไม่เปิดเหมืองทองนะ แต่เราต้องสู้แบบคนที่เท่ากับเขา ยกเหตุผลว่าไม่ควรสร้าง เพราะไม่คุ้มค่าอย่างไร ชาวบ้านต้องไปทำงานวิจัยของตัวเอง สู้กับงานวิจัยที่นักวิชาการ EIA ทำ เราต้องทำถึงขั้นนั้น”

4.
Pepperoni: “ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่มีผลมากแค่ไหนที่จะปกป้องไม่ให้พื้นที่นั้นถูกทำลายหรือพัฒนาผิดทาง ?”
สุรพันธ์: “ปัญหาหนึ่งคือนิยามความสมบูรณ์ของชาวบ้านกับรัฐหรือคนเมืองไม่เหมือนกัน เช่นคำว่า ‘ร่องน้ำ’ ภาษาเมืองเลยหมายถึงแหล่งน้ำสะอาด เช่นร่องน้ำดินดำ แต่คนกรุงเทพฯ ร่องน้ำคือสิ่งที่สกปรก มันมีคำเยอะมาก เช่น ตาน้ำ น้ำผุด น้ำขอบบ่อ ฯลฯ ที่ไม่ได้อยู่ในคลังคำของคนเมือง และคำพวกนี้มาพร้อมวาทกรรม เช่น แล้ง เล็กน้อย สกปรก ฯลฯ ผมคิดว่าไม่ต้องไปเปลี่ยนวาทกรรม แต่แปลให้มันละเอียดกว่านี้ได้ไหม ให้มาเทียบกันได้”
ชุทิมา: “อย่างป่าที่บ้านของหญิงมีตอน้ำผุดออกมาตลอดปี ถึงแม้จะไม่มากมายแต่หล่อเลี้ยงลำห้วยและเพียงพอต่อการทำไร่ทำนาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ชาวบ้านฟ้องศาลว่าไม่ควรสร้างเหมืองตรงนี้ เพราะเป็นป่าต้นน้ำ แต่ศาลบอกว่าตรงนั้นไม่เป็นป่าต้นน้ำ ยกฟ้องที่เราฟ้องเหมือง ตอนศาลตัดสิน ชาวบ้านเขาไม่เข้าใจคำพูดทางวิชาการของศาล เราก็มาแปลในภาษาของเราให้ฟังว่า เขาบอกว่าป่าเราว่าเป็นป่าเสื่อมโทรมนะ มีแต่ต้นไม้ต้นเล็กๆ ไม่มีต้นไม้ต้นใหญ่ มีแค่ห้วยเล็กๆ ไม่ใช่ห้วยใหญ่ที่น้ำไหลลงมาเป็นฝายเก็บน้ำ ชาวบ้านเขาก็ถามว่าแล้วจะต้องใหญ่ขนาดไหน ป้าอยู่มา 60-70 ปีแล้ว กินมาอย่างนี้ จะมาตัดสินเราแค่นี้ไม่ได้”
Pepperoni: “เคยได้ยินมุมมองที่ว่าถ้าไม่เห็นต้นไม้เขียวๆ เต็มไปหมดคือแห้งแล้งเหมือนกัน หรือบางทีก็มีคนพูดว่า ภาคอีสานหรือภาคเหนือบางพื้นที่มันแล้ง ควรโซนนิ่ง (zoning) เอาอุตสาหกรรมไปตั้งได้ แต่พื้นที่ภาคกลางดินดีเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ควรโซนนิ่งให้เป็นพื้นที่ทำเกษตร พรรคสามัญชนคิดอย่างไรต่อประเด็นนี้คะ ?”
เลิศศักดิ์: “การโซนนิ่งต้องดูหลายอย่าง ภูมิประเทศ แหล่งน้ำ การขนส่ง ฯลฯ และควรโซนนิ่งสเกลเล็ก จะโซนนิ่งทั้งภาคไม่ได้ เช่นภาคกลางถึงเป็นอู่ข้าวอู่น้ำแต่บางพื้นที่เป็นเขตอุตสาหกรรมได้ ไม่ใช่ผลักอุตสาหกรรมไปภาคอีสานและภาคตะวันออกอย่างเดียว หรือภาคอีสานที่มีภูมินิเวศน์เป็นที่ราบลอนคลื่น เดี๋ยวสูงเดี๋ยวต่ำ ไม่สามารถส่งน้ำตามแรงโน้มถ่วงได้ ถ้าคุณไปพัฒนาอุตสาหกรรม คุณต้องชักน้ำขึ้น ซึ่งกระทบถึงพื้นที่ให้น้ำ พื้นที่จ่ายน้ำ ระบบน้ำใต้ดิน ไฟฟ้าที่ใช้ชักน้ำ ฯลฯ ภาคตะวันออก เช่น ระยอง รองรับมลพิษเต็มเกินกว่าจะทานทนแล้ว ดังนั้นสมควรเอามลพิษออกจากมันได้แล้ว หรือพื้นที่บางประเภทสมควรคุ้มครองไว้เป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับเกษตรกรรมจริงๆ เพราะถ้าถูกทำลายจะทำให้ประชาชนสูญเสียความมั่นคงทางอาหาร ฯลฯ
“การโซนนิ่งต้องคำนึงถึงกฎหมายผังเมืองด้วย บ้านเมืองนี้จะเจริญได้ พัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ต้องกำหนดเขต ไม่ใช่ว่านี่คือที่อยู่อาศัย ถัดไปอีกนิดหนึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรม แต่ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นตรงกันข้าม 1. ตอนนี้ คสช. ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง เพื่อทำให้โรงงานอุตสาหกรรมก่อตั้งที่ไหนก็ได้ ทั้งๆ ที่สมควรถูกคุ้มครองเอาไว้ ทำให้โรงงานไฟฟ้าขยะผุดขึ้นเต็มไปหมด เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ไหลเข้ามาในไทยจนตรวจสอบไม่ทัน เกิดการ ‘สำแดงสินค้าผิด’ เกิดกระบวนการที่ทำให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ยัดไส้เข้ามา ผ่านศุลกากรและตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 2. รัฐประกาศ EEC ซึ่งพื้นที่ EEC ส่วนใหญ่คือพื้นที่ที่ได้มาจากการยกเลิกกฎหมายผังเมืองและการทำให้กฎหมายสิ่งแวดล้อมอ่อนแอลง ไม่ให้ถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวดได้ เปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมบางประเภทเกิดขึ้นได้ เป็นการบีบคั้นการใช้พื้นที่มากเกินไป และทำให้มลพิษล้นเกิน”
Pepperoni: “สามัญชนมีจุดยืนชัดเจนว่าเป็นพรรคอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันพรรคสามัญชนต่อต้านการพัฒนาหรือเปล่า ?”
สุรพันธ์ : “ผมต้านเหมืองทองคำมาตลอด แล้ววันหนึ่งก็มีคนพูดกับผมว่า ‘คุณใช้คอมพิวเตอร์มันมีส่วนของทองคำรู้มั้ย’ คำพูดนี้ติดอยู่ในหัวของผมมา 2 ปีว่าเราใช้คอมพิวเตอร์ได้หรือใช้ไม่ได้ จนมาคิดว่าเราใช้ได้แต่ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าที่สุด”
ชุทิมา: “พรรคสามัญชนไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่จะพัฒนายังไงให้ไม่เหลื่อมล้ำ ไม่ละเมิด ไม่ทำลาย พัฒนายังไงให้ควบคู่ไปกับการดูแล ถึงแม้ว่าวันหนึ่งเราอาจยอมให้ขุดแร่ต่างๆ ในที่ที่มีคนอยู่ก็ได้ แต่ต้องมาดูว่าคุณจะขุดยังไง ไม่ให้ทำลายสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตคนตรงนั้น”
เลิศศักดิ์: “สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาปะทะกันเสมอ ผมคิดว่าในประเด็นสิ่งแวดล้อมเราต้องตอบให้ได้ทั้งสามด้าน 1. ปกป้องรักษาระบบนิเวศไว้ทำไม 2. เราจะสร้างพลังงานให้ประชาชนอย่างไร 3. เราจะสร้างงานให้ประชาชนอย่างไร เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ด้วยเทคโนโลยีที่แพร่หลาย กระจายทั่วโลก ต้นทุนการผลิตต่างๆ ไม่สูงมาก ผมคิดว่ารัฐสามารถเปลี่ยนวิสัยทัศน์เรื่องสิ่งแวดล้อมได้ ตอนนี้ประเทศเราสามารถสั่งซื้ออุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ประเทศโลกที่ 1 เขาใช้พัฒนาประเทศในด้านพลังงานทางเลือก เราสามารถจ่ายได้ แต่นโยบายด้านพลังงานของรัฐไทยยังไม่เปลี่ยนแปลง ล่าสุดแผนพัฒนาพลังงานฉบับใหม่ ยังไม่ลดสัดส่วนถ่านหินลง มีแต่จะเพิ่มพลังงานถ่านหินขึ้น เป็นนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นไปของโลก เพราะกลุ่มทุนที่ใกล้ชิดกับรัฐ เป็นกลุ่มทุนค้าขายฟอสซิลทั้งนั้น ผมคิดว่าในความเป็นโลกาภิวัฒน์ทางเอกชนเขามีหูตากว้างไกล มีวิสัยทัศน์สูงกว่ารัฐ เอกชนสามารถเข้าถึงโลกได้ในเวลาอันสั้นและมองเห็นโอกาสพัฒนาของพลังงานทางเลือกและมีความพยายามจะลงทุนด้วยตัวเอง พัฒนาไปไกลกว่ารัฐ”
Pepperoni: “เหตุผลที่รัฐยกมาเสมอเมื่อต้องการก่อสร้างโครงการต่างๆ คือ GDP (Gross Domestic Product: มูลค่าตลาดของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตในประเทศช่วงเวลาหนึ่งๆ) พรรคมีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร ?”
เลิศศักดิ์: “วิธีคิดเรื่อง GDP ของรัฐ คือภาคไหน GDP ต่ำ ต้องเร่งพัฒนาด้วยการเร่งอุตสาหกรรม เพื่อจะทำให้ GDP ภาคนั้นสูงขึ้น เกิดการจ้างงาน แต่จริงๆ แล้วตัววัดแบบ GDP ไม่สามารถวัดความเหลื่อมล้ำและความยั่งยืนได้ เมื่อเรามาดูดีๆ จะพบว่าตัวเลข GDP ที่สูง จะตกอยู่ที่คนรวยกลุ่มหนึ่ง แต่ประชาชนจำนวนมากยังหาเช้ากินค่ำ ยังได้ค่าเเรง 300 บาท จริงๆ แล้ว GDP สามารถเดินไปได้ โดยไม่ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ซึ่งเราต้องแก้ไขตรงนี้เพื่อให้ระบบนิเวศและความกินดีอยู่ดีของประชาชนไปด้วยกัน”
5.
Pepperoni: “ความแตกต่างของสามัญชนกับพรรคอื่นๆ คืออะไร ?”
สุรพันธ์: “ภายในพรรคสามัญชนมีความเป็นประชาธิปไตยแท้ ยอมรับสิทธิของคนทุกฝ่าย ผมว่ามันชัวร์นะที่สามัญชนไม่มีเจ้าของพรรคที่หมายถึงปัจเจกบุคคล และพอทุกคนเป็นเจ้าของพรรค ในอีกมุมหนึ่งนี่คือการพัฒนาชาวบ้าน พัฒนาคนที่เป็นสมาชิกไปด้วย เรากำลังทำระบบที่ให้ทุกคนยอมรับชาวบ้าน ไม่ใช่เอาระบบไปใส่ชาวบ้าน เราแสดงตัวตนอย่างนี้ เราเคยแต่งตัวยังไง ไปพูดที่ไหนเราก็ไปแบบนี้ เราเอาบรรยากาศแบบสามัญชนเข้าไปให้สังคมในกรุงเทพฯ หรือสังคมการเมืองแบบเดิมๆ ยอมรับ ว่าชาวบ้านก็มีความสามารถบริหารประเทศได้ คุณไม่ได้เก่งคนเดียว”

ชุทิมา: “ที่ผ่านมาเรามีนักการเมืองกำหนดนโยบายอยู่ในห้องแอร์ ไม่ได้ลงมามองว่าผู้ที่คุณกำหนดชีวิต มีวิถีชีวิต มีผลกระทบยังไง คุณสามารถออกนโยบายอะไรก็ได้ แต่เราคือคนธรรมดาที่เจอปัญหาจริง เจอผลกระทบจริง ไม่ใช่เฉพาะเรา แต่เราทำงานร่วมกับพี่น้องอีกหลายพื้นที่ เพื่อจะทำนโยบายที่เกิดจากทุกคนมาร่วมแชร์ประสบการณ์จริง ว่าชาวบ้านเจอปัญหามาอย่างไร แล้วตกผลึกเป็นนโยบาย
“ตัวหญิงเอง แถวบ้านหญิงทำอาชีพเกษตรกร พืชเศรษฐกิจหลักๆ เลยคือข้าว ข้าวเหนียว กระเทียม หญิงเองเรียนจบบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ ตอนจบใหม่ๆ ไปทำงานนิคมอุตสาหกรรมลำพูน เป็นบริษัทของต่างชาติ ทำชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เล็กๆ เช่นชิพบนเมนบอร์ด บางทีทำๆ อยู่ บ่อน้ำยาล้างชิพ ล้างตะกั่วรั่ว เตาอบระเบิด บางครั้งพนักงานโดนเครื่องจักรหนีบมือ แต่พนักงานกลับโดนทั้งพักงานและติดฑัณฑ์บนด้วยเหตุผลที่นายบอกคือไม่ป้องกันตัวเอง หรือกฎหมายแรงงานกำหนดให้พนักงานโรงงานทำงานแค่วันละ 8 ชั่วโมง แต่ความเป็นจริงคือถ้าไม่ทำงาน 12 ชั่วโมงรวดก็ถูกตัดเบี้ยขยัน งานอุตสาหกรรมหนักนี้มีผลต่อสุขภาพ หญิงทำสักพักเดินเข้าโรงงานแล้วไอหนัก แน่นหน้าอก จนเข้าโรงพยาบาล เพราะเราอยู่กับน้ำยาล้างตะกั่วตลอดเวลา
“ตอนหลังหญิงกลับมาอยู่บ้าน และได้ร่วมต่อสู้ตัดค้านเรื่องทรัพยากร ตลอด 9 ปีที่ต่อสู้มีข้อท้าทายมากมาย จากวิถีชีวิตที่เราอยู่ปกติ พอมีเหมืองขึ้นมา เราต้องใช้เวลาในการสู้ มีเครือข่ายไหนที่โดนคล้ายๆ กันกับเราเราต้องเดินทางไปร่วมต่อสู้ ไปเป็นพันธมิตร เพราะเราสู้คนเดียวไม่ได้ บางทีตี 5 นอนหลับอยู่เพลินๆ เสียงตามสายประกาศว่ามีรถเข้ามาในหมู่บ้าน เราต้องลุกมาดูแล้ว ถ้าไม่เฝ้าระวังอาจถูกขุดจริงๆ เพราะขนาดเราพยายามส่งเสียงทุกขั้นตอน 9 ปี ยังผ่านมาได้ เวลาเจอประกาศเสียงตามสาย คนเป็นความดันแทบจะช็อก เราเคยมีงานสงกรานต์ งานสลากภัตก็ต้องเปลี่ยนเป็นงานระดมทุนต่อสู้เรื่องเหมือง”
6.
Pepperoni: “นอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อมที่พรรคคร่ำหวอดมานานแล้ว ทางพรรคยังชูเรื่องรัฐสวัสดิการด้วย เพราะอะไรถึงอยากขับเคลื่อนเรื่องนี้ ?”
สุรพันธ์: “จริงๆ เรื่องสิ่งแวดล้อม การจัดการทรัพยากร และสวัสดิการเป็นเรื่องเดียวกัน คนจนยังมีเยอะ จะต้องใช้ทรัพยากรในเรื่องสวัสดิการ เรามีแนวคิดที่อยากให้ทุกคนมีความเท่าเทียม ตอนนี้สวัสดิการแตกต่างกันมาก อัยการสตาร์ทเงินเดือนที่ 120,000 บาท พวกผมคนที่ปลูกข้าวโพดต้องทำงานสิบไร่หนึ่งปีได้ ทั้งที่จริงคนจนเสียภาษีเยอะกว่า ผมซื้อรถแพงกว่าพวกคนรวยซื้อ คนรวยซื้อโดยหักภาษีบริษัท มีวิธีเอาคืนได้สารพัด คนธรรมดาต้องเหนื่อยมากกว่าคนเป็นข้าราชการ แต่ข้าราชการลูกก็เรียนฟรี พอไปอยู่โรงพยาบาลนอนห้องพิเศษอีก สมมติผมเป็นชาวนา ถ้าเทียบครูประชาบาลธรรมดา ไม่ต้อง ผอ. เขาก็สูงกว่าเราแล้ว แม้จะทำงานหนักเท่ากัน เพราะบ้านนอกนับถือครู
“การมีรัฐสวัสดิการจะทำให้ทุกคนมีอิสระมากขึ้น สามารถกำหนดชีวิตตัวเองได้มากขึ้น เราไม่ต้องไปห่วงลูกมาก ถ้ารัฐส่งลูกผมเรียนปริญญาตรี ผมจะรู้สึกภูมิใจ ถ้าอยากได้อะไรพิเศษผมก็เพิ่มเงินไป ถ้าผมไม่สบาย ผมไม่ใช่ข้าราชการ แต่ผมมีสวัสดิการก็ได้รักษาตัว
“การมีรัฐสวัสดิการจะทำให้เราไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังเวลาทำงานสาธารณะประโยชน์ จะทำงานได้เยอะขึ้น ดีไม่ดีสู้รัฐได้ อย่างที่ผมเคลื่อนไหวเรื่องทรัพยากร บางคนเขาขอตัวไปก่อน เฮ้ย! เดือนนี้ไม่ว่างเลย ค่าเทอมลูกต้องใช้ ต้องขอกรีดยางก่อน ทำให้เกาะประเด็นร่วมเคลื่อนไหวยาก ตอนนี้พี่น้องต้องต่อสู้ไปด้วยเลี้ยงดูตัวเองไปด้วยเยอะมาก แต่เขาต่อสู้ ผมคิดว่าประชาชนที่อยู่ข้างล่างถ้าให้เขาจ่ายภาษีเพิ่ม เขาเพิ่มให้นะ แต่ว่าทำสวัสดิการให้ดีด้วย เราอยากมีข้อกฎหมายได้ที่จะดูแลกลุ่มคนที่หลากหลาย แต่ถ้าเพิ่มแล้วทำให้รัฐแข็งขึ้น รัฐเอาไปซื้อรถถัง หรือดูแลคนกลุ่มเดียว ก็ไม่น่าเพิ่ม รัฐก็จะกดขี่พี่น้องตลอด”
Pepperoni : “ประเทศไทยเรามันมีปัญหาสำคัญหนึ่ง ตรงที่เราไม่ค่อยมีฉันทามติร่วมในการแก้ปัญหา อย่างน้อยในเรื่องสิ่งแวดล้อม ถ้าจะฝากความหวังให้พรรคสามัญชนสามารถเข้าไปเพื่อสร้างฉันทามติให้ทุกฝ่ายพร้อมจะร่วมมือแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันได้หรือไม่ ?”
เลิศศักดิ์ : “ไม่มั่นใจเลยว่าพรรคสามัญชนเป็นพรรคที่จะทำหน้าที่ประสานเพื่อให้เกิดฉันทามติได้หรือเปล่า เราอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นก็ได้ แต่พรรคสามัญชนพยายามจะยืนในจุดที่ทำให้ความขัดแย้งเป็นการหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ เราจะกลับไปคิดถึงจุดนี้มากขึ้น อย่างน้อยที่สุดเราอยากจะทำให้มวลชนข้างล่างมีฉันทามติเกิดขึ้น เพื่อที่จะทำให้ฉันทามติข้างล่างกดดันให้ข้างบนสร้างฉันทามติร่วมต่อไป”