เรื่องและภาพบุคคล: กองบรรณาธิการ
ภาพกรุงเทพฯ จมฝุ่น: CHANKLANG KANTHONG/GREENPEACE
ภาพจากซ้ายไปขวา: สุรพันธ์ ชุทิมา เลิศศักดิ์
นี่อาจเป็นยุคสมัยที่พื้นที่ในสภาฯ ต้องการพรรคการเมืองที่มีนโยบายสิ่งแวดล้อมเข้มแข็งเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน หลังจากเราพบว่าบางครั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมแสนหนักหน่วงเกินควบคุมได้ ทั้งฝุ่น PM 2.5 ที่ฉีดน้ำไล่ไม่ไป การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ระบบนิเวศแสนสมบูรณ์ การยกเลิกกฎหมายผังเมืองหลายพื้นที่ ซึ่งเทียบได้กับการเอาบัฟเฟอร์ที่กั้นกลางระหว่างประชาชนกับมลพิษออกไป
พรรคสามัญชน – Commoners Party เป็นพรรคใหม่ แต่ไม่ใหม่ที่สุด เพราะความคิดที่จะตั้งพรรคสามัญชนมีมาแล้วร่วม 6 ปี โดยคนกลุ่มหนึ่งที่คร่ำหวอดในเรื่องการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ จนกระทั่งทุกอย่างสุกงอม ปี 2561 พรรคสามัญชนจึงได้เดบิวต์ ต้อนรับสมาชิกหลากหลายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพรรค นโยบายขยายไปมากมาย เช่นล้มล้างผลพวงรัฐประหาร สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ สร้างรัฐสวัสดิการ ฯลฯ แต่นโยบายที่นับว่าเป็น “ซิกเนเจอร์” ที่คนสามัญชนคลุกคลีมานานคือสิ่งแวดล้อม
Pepperoni News ชวนคุยกับสมาชิกพรรคสามัญชน เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ อดีตผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ซึ่งขณะนี้เป็นหัวหน้าพรรคและผู้ลงรับสมัคร ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ชุทิมา ชื่นหัวใจ ผู้ลงรับสมัคร ส.ส. อ.งาว จ.ลำปาง และสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ แกนนำกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย รองหัวหน้าพรรค ที่จะมาพูดถึงนโยบายแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับ ‘เอาให้สุด’ โดยเฉพาะปัญหาเรื้อรังในหน่วยงานที่ทำหน้าที่ปกป้องสิ่งแวดล้อมและดูแลสุขภาพของคนไทย แนวคิดที่จะทำให้ความเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาเดินหน้าคู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดีได้ เครื่องมือใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และแก่นแกนของพรรคที่แตกต่าง
Pepperoni: “อะไรทำให้ตัดสินใจมาทำงานการเมือง ?”
เลิศศักดิ์: “ผมเคยคิดเรื่องพรรคการเมือง อยากทำพรรคการเมืองของภาคประชาชนที่เป็นสายสิ่งแวดล้อม แบบพรรคกรีน (Green Party) ที่สนใจทั้งปัญหาการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน และสนใจปัญหาโลกร้อนควบคู่กันไป คิดเรื่องนี้มานาน สนใจพรรคแบบพรรคกรีน ออสเตรเลีย ที่ต่อสู้กับการสร้างเขื่อน การตัดไม้ทำลายป่า ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและวิถีความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น”
ชุทิมา: “หญิงเกิดและโตที่อำเภองาว จังหวัดลำปาง ที่บ้านของหญิงเมื่อ 9 ปีก่อนมีนายทุนมากว้านซื้อที่ บอกว่าจะซื้อไปปลูกต้นยูคาลิปตัสป้อนบริษัทผลิตกระดาษชื่อดังยี่ห้อหนึ่ง เอาต้นกล้ามาลงให้เห็น ชาวบ้านเชื่อและขายที่ไปมาก ต่อมาเราถึงรู้ว่าเขาขอประทานบัตรและสัมปทานเหมืองถ่านหินใกล้ๆ ชุมชนไว้แล้ว เหมืองมีเนื้อที่พันกว่าไร่ กินพื้นที่เขา 2-3 ลูกและห่างจากชุมชนของเราแค่ 300 เมตร ตั้งแต่นั้นสู้มาตลอดค่ะ ตอนแรกยังไม่ได้มองเรื่องการเมือง เคยมีนักการเมืองท้องถิ่นมาชวนสมัคร สจ. เราก็ปฏิเสธว่าเราต่อสู้เรื่องชุมชน เราจะไม่ยุ่งเรื่องการเมือง แต่พอนานๆ เข้าเราเริ่มรู้ว่าทุกอย่างมาจากข้างบนหมด นายทุนเกี่ยวข้องกับรัฐ เจ้าหน้าที่ก็เจ้าหน้าที่รัฐ นโยบายจากภาครัฐออกมาโดยที่เราไม่มีส่วนรับรู้ เลยคิดว่าเราต้องมามีส่วนในขบวนการทางการเมืองแล้วนะ”
สุรพันธ์: “แนวคิดที่จะตั้งพรรคสามัญชนเกิดก่อนหน้านี้ 5-6 ปี เป็นส่วนผสมจากนักศึกษา ชาวบ้าน เกษตรกร กรรมกร และนักกิจกรรม รวมตัวกันต่อสู้เรื่องทรัพยากร บางครั้งเราสู้จนได้มติ ค.ร.ม. ให้แก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่พอเปลี่ยนรัฐบาลก็ถูกยกเลิก ก็คิดกันว่าไม่ใช่แล้ว เราเรียกร้องก็ไม่เหมือนกับเราเป็นตัวแทนเอง พอเกิดรัฐประหารถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้มาร่วมทำพรรคที่ต้องการสร้างประชาธิปไตยรากฐานให้เข้มแข็ง เราสนใจการเมืองแบบใหม่มากกว่าการเมืองเก่าๆ ที่ต้องมีผู้หนุน มีทุนหนา มีคนเด่นๆ เป็นแคนดิเดต เป็นเจ้าของพรรค แต่สามัญชนไม่ใช่หน้าตาเหมือนอาจารย์เลิศหรือผม ผมอยากให้ประชาชนเลือกเราที่อุดมการณ์พรรคนั่นคือ ประชาธิปไตยฐานราก สิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมเป็นธรรม”
1.
Pepperoni: “เท่ากับว่าในพรรคสามัญชน มีทั้งแนวคิดอย่างพรรคกรีนในต่างประเทศ แนวคิดที่เกิดจากความเดือดร้อนของชาวบ้าน และแนวคิดประชาธิปไตยรากฐานมารวมกัน ?”
เลิศศักดิ์: “เวลาพูดถึงสิ่งแวดล้อมแล้วเราไม่พูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ มันเป็นไปไม่ได้ นักสิ่งแวดล้อมจะมองเเค่ความเขียวขจีของป่าไม้หรือระบบนิเวศ แล้วไม่มองวิถีชีวิตคน ที่มาของโครงการพัฒนาต่างๆ กลุ่มอิทธิพลทางการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกันอยู่”

“สามัญชนคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่พอมาเป็นพรรคการเมืองแล้ว ชุดคิดเหล่านี้อาจจำกัดตัวเฉพาะประเด็นใดประเด็นหนึ่่งมากเกินไป ต้องคิดมากไปกว่านั้น เช่น เรื่องสิทธิทางการเมือง สิทธิความเป็นธรรมในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิ่งแวดล้อมโดยตรง และหลักการเรื่องประชาธิปไตยและการเลือกตั้งที่ถูกริดรอนและละเมิดอยู่ พรรคแบบกรีนอยู่ในพรรคสามัญชน แต่วาระที่เร่งด่วนกว่านั้นที่จะทำให้ประเทศไทยกลับคืนมาได้คือ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปลดอาวุธและคำสั่ง คสช.”
Pepperoni: “จากประสบการณ์ของพรรค สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และการเมืองสัมพันธ์กันอย่างไร ?”
สุรพันธ์: “ทรัพยากรเป็นเรื่องที่การเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวเป็นลำดับแรก เวลาเราคุยกับพี่น้องต่างชาติเขาเข้าใจว่าสิ่งแวดล้อมกับการเมืองคือเรื่องเดียวกัน เขาบอกว่าการต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมคือสงคราม ถ้าคุณไม่ทำสงครามคุณสู้รัฐไม่ได้ เขาถึงจับปืนรบถึงที่สุดเรื่องนี้ คุณจะแน่ใจได้ไงว่าสิ่งแวดล้อมที่ดีและทรัพยากรจะอยู่กับคุณตลอด เพราะรัฐฉ้อฉล เปลี่ยนนโยบายและหาวิธีการที่จะเอาทรัพยากรให้นายทุนตลอด”
ชุทิมา: “อย่างกรณีของหญิง ในช่วงรัฐบาลปกติหญิงและชาวบ้านเคยขอดู EIA (Environmental Impact Assessment: รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม) ของเหมืองถ่านหินที่อยู่ใกล้บ้าน นายทุนบอกว่าเป็นความลับราชการ จนเราต้องลงมากรุงเทพฯ ตรงดิ่งมาที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งบอกให้เราไปทำเรื่องร้องขอผ่าน พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารเพื่อขอดูและคัดสำเนา ได้มาแล้วก็ต้องจ่ายค่าถ่ายเอกสาร 2-3 เล่มหมื่นกว่าบาท เป็นภาระของเรา แต่สุดท้าย EIA ก็ผ่าน นั่นเป็นเรื่องแย่ในรัฐบาลปกติ แต่ทั้งที่แย่เรายังสามารถไปเดินขบวนบนท้องถนน ไปยื่นข้อเสนอได้ โดยไม่ต้องถูกกระทำอะไร เราไม่ต้องกลัว เราทำตามสิทธิของเรา
“นั่นคือช่วงก่อนรัฐประหาร แต่พอเจอรัฐบาลทหารเข้าไป มีคำสั่ง ค.ส.ช. มา พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะฯ พ.ศ. 2558 มา เพิ่มความยากลำบากให้เรา และโดนคดีเยอะมาก การเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมของชาวบ้านแทบทุกวิถีทาง ผิด พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะฯ ไม่ก็ผิดกฎอัยการศึก หลังรัฐประหารใหม่ๆ ปี 2557 ชาวบ้านเราคุยกันว่าเรามีรัฐบาลทหารแล้วนะ เราไปยื่นเรื่องไม่เอาเหมืองถ่านหินกับรัฐบาลทหารมั้ย เผื่อทหารช่วย เรายื่นเรื่องกับนายทหารที่เป็นผู้บังคับบัญชาในค่ายทหารของพื้นที่ นายทหารท่านนั้นขอให้เหมืองยุติไปก่อน ไปทบทวนกระบวนการใหม่ ต่อมานายทหารท่านนั้นก็ถูกย้าย
“หลังจากนั้นมีทหารเรียกชาวบ้านไปคุยในค่ายฯ พอไปถึงเขาให้เราอยู่ในห้อง บอกว่าประชุมแบบลับ ไม่ให้ถ่ายรูป ห้ามใช้เครื่องมือสื่อสาร ตัวแทนชาวบ้านคนหนึ่งเจรจา เขาก็บอกว่าผมเรียกคุณมาในนามของกฎอัยการศึกนะ เถียงกันอยู่ 4 ชั่วโมง สุดท้ายชาวบ้านจะวอล์คเอาท์ เขาเลยออกคำสั่งให้ สห. ปิดห้องและยืนคุมอยู่หน้าห้อง ถือว่าเราถูกละเมิดอย่างรุนแรง เราร้องไห้กันเยอะ ผิดหวังว่านี่เหรอ ความคิดที่ว่าเราจะพึ่งเขา ให้เขามาช่วยคลี่คลาย แต่กลับเป็นพยายามโน้มน้าวเราให้โอกาสนายทุน และไม่เห็นความสำคัญของประชาชนในพื้นที่”
2.
Pepperoni: ถ้าสามัญชนได้เป็นส่วนหนึ่งในสภาฯ จะมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง ?
เลิศศักดิ์: “สิ่งแรกที่ต้องทำคือเราจะเปลี่ยนแปลงระบบการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เมื่อมีการทำหรือสร้างสิ่งใดก็ตามที่จะส่งผลต่อประชาชน โดยจะไม่ให้ระบบการประเมินฯ มีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างปัจจุบัน ทุกวันนี้การประเมินอยู่ในอำนาจของหน่วยงานที่ต้องพึ่งพิงซึ่งกันและกัน คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ขึ้นตรงกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง จากนั้น กก.วล. เป็นผู้เลือกและประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน (คชก.) สามขานี้เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ต้องถูกยกเลิกทั้งหมด “เราต้องทำให้ระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของไทยเป็นองค์กรอิสระ เป็นองค์กรมหาชนให้ได้ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการประเมินผลกระทบ ไม่ให้ประโยชน์ของฝ่ายบริหารเข้ามาทับซ้อนอยู่กับผลประโยชน์ของประชาชน ฝ่ายบริหารคิดนโยบายมาก็เรื่องของคุณ แต่การประเมินผลสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของภาคประชาชนและองค์กรอิสระ ซึ่งจะทำให้ระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะคำนึงถึงคุณภาพชีวิตประชาชนสูงมากกว่าที่เป็นอยู่”
Pepperoni: “ฟังดูคล้าย US-EPA หรือองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งอเมริกานะคะ ที่มีการประเมินที่เป็นอิสระเหมือนกัน ?”
เลิศศักดิ์ : “ใช่ครับ แต่องค์กรอย่างนั้นกว่าจะเกิดขึ้นได้ต้องใช้พลังมหาศาล กรณี US-EPA ทุกกระทรวงที่มีนโยบายส่งผลกระทบและเกี่ยวข้องต่อสิ่งแวดล้อม ต้องสละอำนาจบางส่วนมาให้ US-EPA กำกับแทน เพื่อทำให้ UE-EPA เป็นองค์กรที่เข้มแข็งในการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมและคำนึงถึงคุณภาพชีวิตให้ได้ นโยบายนี้เป็นนโยบายหนึ่งที่สามัญชนจะทำ อาจต้องใช้เวลาหน่อย แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีหนทาง”
Pepperoni: “สมมติเราจะตั้งองค์กรลักษณะที่ว่าขึ้นมาจริงๆ ในประเทศไทย ต้องอาศัยความร่วมมือจากองค์กรไหนบ้าง ที่ต้องสละอำนาจบางส่วนเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ?”
เลิศศักดิ์: “ทั้งหมด อำนาจฝ่ายบริหารจะต้องไม่มาเกี่ยวข้องกับ กก.วล. และ คชก. อีกต่อไปแล้ว ฝ่ายนิติบัญญัติคงต้องพัฒนากฎหมายสิ่งแวดล้อมให้รองรับ ฝ่ายตุลาการชัดเจนว่าต้องตั้งศาลสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้น ส่วนหน่วยงานระดับปฏิบัติการ เช่น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ที่กฎหมายกำหนดว่ามีอำนาจหน้าที่ส่งเสริมเหมืองแร่ต่างๆ กรมชลประทานที่สนับสนุนกับการสร้างเขื่อน หรือกระทั่ง กฟผ. ที่ถือกฎหมายเกี่ยวกับการให้คุณให้โทษสิ่งแวดล้อม ฯลฯ กฎหมายหลายข้อของหน่วยงานเหล่านี้ต้องถูกปรับแก้ เพื่อลดทอนอำนาจในการอนุมัติอนุญาต แล้วให้องค์กรอิสระนี้ตัดสินใจแทน”
Pepperoni: “ปัญหาสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ เมื่อเกิดขึ้นแล้วมักตามมาด้วยปัญหาสุขภาพ อยากทราบว่าที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขคัดง้างโครงการต่างๆ ที่ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มากแค่ไหน ?”
เลิศศักดิ์: “เท่าที่มีประสบการณ์ ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขมีทั้งน้ำดีและน้ำไม่ดี คนน้ำดีที่คำนึงถึงสุขภาพประชาชน เช่นเห็นว่าอุตสาหกรรมไหนจะก่อสารมะเร็งแล้วไม่อยากให้สร้างก็มี แต่ปัญหาของกระทรวงสาธารณสุขคือ ‘มีแต่ปัญญาไม่มีอาวุธ มีแต่ภูมิปัญญา แต่ไม่มีบทกำหนดโทษ’ กระทรวงสาธารณสุขทำได้เพียงเสนอแนะว่ามีกระทบทางสุขภาพด้านไหนต้องใส่ใจ แต่ไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องไปต่อสู้ “กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาในบ้านเรา เป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่กระทรวงสาธารณสุขแทบจะไม่เกี่ยวข้อง จึงทำให้ข้อเสนอหลายอย่างของหน่วยงานทางด้านสุขภาพมีประโยชน์ แต่ไม่มีศักยภาพไปลดทอนการเร่งรัดผลักดันโครงการพัฒนาเหล่านั้นมากนัก แต่ถ้าเรามีองค์กรประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่แข็งแรงและเป็นอิสระ ความคิดเห็นของหน่วยงานทางด้านสุขภาพถูกรับฟัง แม้จะไม่ได้เพิ่มบทบัญญัติกฎหมายที่ทำให้กระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจในการจัดการสิ่งแวดล้อมสูงขึ้น เพราะองค์กรอิสระ เช่น กก.วล. สผ. คชก. และองค์กรด้านสาธารณสุขต่างก็เข้ามาเป็นกรรมการที่มีอำนาจเท่าเทียมกันในองค์กรนี้ได้”
Pepperoni: “นอกจากการจัดตั้งองค์กรที่มีอิสระในการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแล้ว มีกลไกอะไรอีกบ้างคะที่เราน่าจะนำมาใช้ป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ?”
เลิศศักดิ์: “จริงๆ แล้วการก่อสร้างที่กระทบถึงสิ่งแวดล้อมสมควรคำนึงถึงการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) ด้วย SEA เป็นความก้าวหน้าที่สำคัญมากของระบบการประเมินผลกระทบฯ SEA จะช่วยให้เราเห็นพื้นที่ของเรา ว่าตรงไหนสมควรเป็นสีเขียว ม่วง ชมพู หรือเหลือง โดยไม่ต้องเลือกที่รักมักที่ชัง เป็นหลักประกันที่ดีว่าการพัฒนาทางวัตถุโครงการพัฒนาต่างๆจะสอดคล้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเราได้อย่างไร” Pepperoni: “SEA คำนึงถึงมิติเศรษฐกิจไหม ?” “SEA เป็นวิธีที่คำนึงถึงทั้งศักยภาพของสิ่งแวดล้อมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ มีการคำนวณแบบ cost benefit ratio แต่การคำนึงถึงมิติเศรษฐกิจนี้ ไม่ได้มองเห็นสิ่งแวดล้อมเป็นลูกเมียน้อยอีกต่อไป ไม่ใช่ได้แต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจแต่ว่าคุณภาพชีวิตหรือสุขภาพอ่อนแอลงจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือเอาพื้นที่ที่มีมูลค่าทางสิ่งแวดล้อมมากไปทำลาย แต่ทำให้การพัฒนาทางวัตถุสัมพันธ์กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต”
Pepperoni : “ในการจัดทำ SEA ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจมากแค่ไหน ?”
เลิศศักดิ์ : “ นี่แหละเป็นเรื่องสำคัญ โดยหลักการแล้ว SEA จะต้องคำนึงถึงประชาชน พาประชาชนมามีส่วนร่วมเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ พูดง่ายๆ คือมีรัฐ มีผู้ประกอบการ และประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจ แต่จากระบบประเมินผลกระทบฯ ที่ผ่านมา เช่น EIA/EHIA รัฐกับผู้ประกอบการครองส่วนแบ่งแล้วเอาส่วนแบ่งประชาชนไปให้นักวิชาการมากเกินไป และนักวิชาการส่วนใหญ่ที่รัฐและทุนจ้างมักอยู่ข้างรัฐและทุน ตอนนี้ประเทศไทยยังไม่มีการทำ SEA มากนัก แต่ถ้าเราย้อนไปดูการทำรายงาน EIA/EHIA เราจะเห็นว่าแทบจะไม่มีโครงการไหนไม่ได้รับการเห็นชอบ เพราะกระบวนการคือ ถ้าไม่ผ่านการเห็นชอบรอบแรก นักวิชาการจะไปแก้ไขแล้วก็ส่งมารอบ 2-3-4-5 จนผ่านให้ได้ เป็นอย่างนี้มาตลอด”
Pepperoni: “ถึงเราเปลี่ยนมาใช้ SEA แต่เราก็ยังต้องเจอนักวิชาการชุดเดิม กับที่ทำ EIA และ EHIA แล้วเราจะเปลี่ยนมาใช้ SEA ทำไมคะ ?”
เลิศศักดิ์: “SEA จะหยุดวงจรอุบาทว์ที่เคยเกิดกับ EIA และ EHIA ได้ด้วยการกำหนด ‘ยุทธศาสตร์’ สมมติเราจะสร้างเหมืองโปแตซที่อุดร เราต้องคิดถึงโปแตชทั้งอีสาน ประเมินว่าเราจะเซ็ตตัวเอง ภาคของเรา ประเทศของเราให้อยู่ระดับไหน เช่น เป็นแค่เพียงผู้นำโปแตชขึ้นมาสำหรับการผลิตใช้ภายในประเทศ หรือจะเซ็ตตัวเองให้เป็นผู้ส่งออกเพราะต้องการรายได้เข้าประเทศ ถ้าผลิตใช้ในประเทศเราก็ต้องการโปแตชเพียงแค่ 3-4 แสนตันต่อปี เราขุดแค่นั้น ถ้าเราต้องการเป็นผู้ส่งออก เราต้องผลิตเป็นล้านๆ ตัน พอสเกลเล็กใหญ่ต่างกัน ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมย่อมต่างกัน จากนั้นต้องประเมินความคุ้มทุน ศักยภาพของพื้นที่อีสานทั้งหมดที่จะรองรับอุตสาหกรรมโปแตชและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากโปแตช ว่ามีความอ่อนไหวและความเข้มแข็งขนาดไหน การทำ SEA ต้องลบเรื่องว่าเราอยากได้แร่สองล้านตันทิ้งไปก่อน แต่ต้องประเมินศักยภาพพื้นที่ทั้งภาคก่อน เราจะรองรับได้เท่าไหร่ เราจะมุ่งไปทางไหน เราควรทำอะไรแค่ไหนดีที่สุด
“อีกประการหนึ่งที่ต้องใช้ SEA เพราะตอนนี้บางพื้นที่เปราะบางและอ่อนไหวมาก เช่น ภาคตะวันออก ภาคประชาชนมองว่าการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA: Environmental Health Impact Assessment) ก็ไม่ตอบโจทย์ เนื่องจากมลพิษเต็มแล้ว ต้องมีวิธีการประเมินผลแบบใหม่ เพื่อช่วยประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่ในภาพรวมทั้งภาคด้วย”
สามัญชน พรรคที่มีนโยบายสิ่งแวดล้อมเฟี้ยวฟ้าวที่สุด ตอนที่ 2 ได้ ที่นี่