โดย ณัฐกมล ไชยสุวรรณ

เสียงด่าสาปแช่งดังขึ้นจากฝูงชนไทยมุงโดยรอบ เมื่อตำรวจนำผู้ต้องหาที่ก่อเหตุฆาตกรรมสะเทือนขวัญลงจากรถตู้ เขาได้ฆาตกรรมอดีตแฟนสาวและหั่นศพเป็นชิ้นๆ ใส่กระเป๋าแล้วโยนทิ้งริมป่าละเมาะข้างทาง พลันที่ข่าวนำเสนอออกไป สังคมต่างพูดว่าเป็นพฤติกรรมที่โหดและเหี้ยมเป็นอย่างยิ่ง เมื่อถูกจับได้ คนจำนวนมากจึงเดินทางมารอการปรากฏกายของชายคนนี้ ท่ามกลางแนวตำรวจที่ตั้งแนวกันถึง 2 วงด้วยกัน วงแรกกันประชาชนบุกเข้ามา เจ้าหน้าที่อาสาสมัครมูลนิธิ ตำรวจบ้านจับมือกันแน่น อีกวงหนึ่งเป็นตำรวจในเครื่องแบบและสายสืบสวมเสื้อกั๊กสีดำแขวนบัตรประจำตัวตำรวจคอยกันนักข่าวไม่ให้ประชิดผู้ต้องหามากนัก

ระหว่างผู้ต้องหากำลังสาธิตการลงมือฆ่า ฉับพลันชายคนหนึ่งบุกเข้าใส่ผู้ต้องหา แต่ตำรวจวงแรกกันออกไปได้  หน้าตาเขาเคียดแค้นสุดชีวิต ถ้าฆ่าได้ มั่นใจว่าเขาคงลงมือฆ่าผู้ต้องหาแน่นอน….ส่วนตำรวจเหงื่อแตกพลั่ก ต้องเร่ง ต้องทำเวลาให้ดีกว่านี้ ต้องคุมกันคนให้อยู่ ไม่ให้เกิดความผิดพลาดรุนแรงขึ้นได้…หรือพูดง่ายๆ ว่า อย่าทำให้ผู้ต้องหาตายเด็ดขาด

มีเสียงในสังคมเสนอความเห็นว่าการพาผู้ต้องหาไปเสี่ยงตายกับการถูกฝูงชนญาติพี่น้องคู่กรณีเข้ารุมทำร้ายในช่วงการ “ทำแผนประกอบคำรับสารภาพ” เป็นเรื่องเหมาะสมหรือไม่ เรื่องนี้ควรมองตามสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหา หรือมองในมุมตำรวจ หรือจะให้ดีลองมุมมองของนักข่าวที่ลงไปทำข่าวก็น่าสนใจไม่เบา เราขอพาไปสำรวจทั้งสามทัศนะข้างต้น และขอเรียกมันว่า “คำสารภาพของแผนประกอบคำรับสารภาพ” น่าจะเข้าท่าดีไม่ใช่น้อย

“ในเชิงวิชาการ การทำแผนประทุษกรรมจึงไม่ใช่การทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ซึ่งในบ้านเราเอามาผสมกันจนกลายเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาไปเลย”

ผศ.สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผศ.สาวตรี สุขศรี ภาพ : อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์

“ที่จริงเราควรเรียกว่า ‘การทำแผนประทุษกรรม’ มากกว่า ต้องฝากไปยังสื่อมวลชนด้วย อนาคตข้างหน้าควรใช้คำนี้จะเหมาะกว่า  แต่เราเข้าใจว่าทำไมถึงใช้คำนี้ เพราะตำรวจเขาใช้กัน  นักข่าวเลยใช้ตาม”  ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวถึงความแตกต่างของ ‘การทำแผนประกอบคำรับสารภาพ’ ที่มีนัยยะของการตอกย้ำความผิดโดยเฉพาะต่อหน้าสาธารณชน กับ ‘การทำแผนประทุษกรรม’ ซึ่งเป็นการเก็บรวบรวมวิธีการขั้นตอนการกระทำผิดของผู้ต้องหาด้วยการเก็บหลักฐานโดยละเอียด ทั้งช่วงก่อนก่อเหตุ ระหว่างการก่อเหตุและหลังการก่อเหตุ ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลหลักฐานจัดประเภทการกระทำความผิด ซึ่งการใช้คำว่า ‘การทำแผนประทุษกรรม’ กับ ‘แผนประกอบคำรับสารภาพ’ ส่งผลต่อการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาต่างกัน

“อนาคตเวลาเจอลักษณะความผิดแบบนี้ เจ้าหน้าที่จะได้ทราบว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร เพราะมีการจัดเก็บข้อมูลไว้แล้วง่ายต่อการรับมือและจับกุมผู้ต้องหาได้ นั่นคือเหตุที่ต้องทำแผนประทุษกรรมไว้”

ส่วนการนำตัวผู้ต้องหาไปชี้จุดเกิดเหตุนั้น สาวตรีกล่าวว่าสามารถทำได้ หากมีเหตุจำเป็น เช่นให้ผู้ต้องหาไปชี้จุดที่นำอาวุธที่ก่อเหตุไปซ่อน หรือเอาศพไปซ่อน ต้องพาผู้ต้องหาไป เพราะหากฟังคำให้การเฉย ๆ อาจจะหาอาวุธหรือศพไม่เจอ

“ที่สำคัญคือ การนำผู้ต้องหาไปชี้ที่เกิดเหตุ ก็เพื่อป้องกันข้อครหาว่าตำรวจเอาอาวุธไปซุกซ่อนเองด้วย”

อย่างไรก็ดี สาวตรีอธิบายว่าหลักสำคัญของแผนประทุษกรรมต้องไม่มีการแจ้งต่อสาธารณะ และต้องไม่ทำต่อหน้าสาธารณชน เพราะการทำแผนฯ ลักษณะนี้ มีไว้ให้เพื่อพนักงานสอบสวนหรือตำรวจเท่านั้นศึกษา ในต่างประเทศจึงไม่ใช่การนำตัวไปทำต่อหน้าคนหมู่มาก เพราะไม่มีความจำเป็น ไม่มีนำตุ๊กตาหรือคนมาทำเป็นเหยื่อ ทำท่าเหมือนตอนก่อเหตุเหมือนที่เราเห็นในภาพข่าวของไทยเด็ดขาด

“ดังนั้นในเชิงวิชาการ การทำแผนประทุษกรรมจึงไม่ใช่การทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ซึ่งในบ้านเราเอามาผสมกันจนกลายเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาไปเลย”

หากพิจารณาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่มีกฎหมายคอมมอนลอว์ (ระบบกฎหมายที่ให้น้ำหนักในการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลที่มีมาก่อนหน้านี้ โดยเป็นระบบกฎหมายที่แตกต่างจากประเทศไทยที่ใช้ระบบซีวิลลอว์ที่มีกฎหมายเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรระบุไว้ – ผู้เขียน) อย่างในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรจะไม่นำตัวผู้ต้องหาไปที่เกิดเหตุเด็ดขาด

อย่างไรก็ดีทางเจ้าหน้าที่อาจนำผู้ต้องหาพาไปชี้เอาหลักฐานพยานวัตถุที่ซุกซ่อนไว้ได้ แต่การพาผู้ต้องหาออกไปนั้น ต้องมีเกณฑ์ชัดเจนคือ 1.ลักษณะการนำชี้ต้องมีขั้นตอนละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร ต้องระบุให้ชัด 2.ต้องมีการรักษาความปลอดภัยของผู้ต้องหา 3.ต้องไม่แจ้งให้สาธารณชนทราบ แต่บางครั้งสาธารณชนอาจเห็นผู้ต้องหาโดนคุมตัวไปชี้จุด แล้วมามุงดูกัน ดังนั้นตำรวจต้องรักษาความปลอดภัยของผู้ต้องหาให้ดีที่สุด

การทำแผนประทุษกรรมในซีรีส์ เลือดข้นคนจาง (2559) มีเพียงตำรวจและญาติพี่น้องที่อยู่ด้วย แต่การให้ผู้ต้องหาประทับปืนแสดงการก่ออาชญากรรมอีกครั้งนั้นส่งผลต่อจิตใจ ซึ่งในบางประเทศไม่มีการทำเช่นนี้

“ในสหรัฐอเมริกา ตำรวจห้ามแจ้งสื่อมวลชนโดยเด็ดขาด จะไม่มีการไปทำข่าวถ่ายภาพเลย เพราะถือว่าละเมิดสิทธิของผู้ต้องหา ส่วนในประเทศเยอรมนี เขาไม่มีการนำผู้ต้องหาออกไปนำชี้จุดเกิดเหตุ เพราะถือว่าเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

ทั้งนี้หากถามว่าแล้วตำรวจไทยนำตัวผู้ต้องหาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพทำไม เรื่องนี้สาวตรีมีความเห็นว่า ตำรวจไทยนำผู้ต้องหาไปทำแผนฯ เพราะต้องการให้แน่ใจว่าผู้ต้องหาสารภาพแล้วจริงๆ และแสดงให้เห็นว่าผู้ต้องหาเต็มใจจะพาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพด้วย

แต่ผลอีกด้านหนึ่งการพาผู้ต้องหาไปทำแผนฯ ไม่ต่างจากการประจานผู้ต้องหาต่อหน้าคนหมู่มากนั่นเอง และแน่นอนย่อมมีคนที่โกรธแค้นและอาจเข้าไปรุมทำร้ายได้

“เมื่อผู้ต้องหาที่ผ่านการทำแผนฯ ออกจากคุกแล้วเขาก็อยากจะกลับตัวสู่สังคม แต่หน้าเขาชื่อเขาปรากฏในข่าวแล้ว ตรงนี้มันก็ยากจะกลับคืนสู่สังคมได้ แถมการทำแผนฯ แบบนี้ ยังสร้างอคติแก่สังคม เป็นการกดดันคนในกระบวนการยุติธรรมให้ดำเนินการตามที่สังคมคาดหวัง ในต่างประเทศที่ใช้ระบบลูกขุนเขาจะไม่ทำเหมือนบ้านเราเด็ดขาด เพราะจะกดดันลูกขุนไปในตัว ให้ตัดสินจากอคติแทนที่จะตัดสินจากพยานหลักฐาน”

จากทั้งหมดนี้สาวตรีเห็นว่า เมื่อผู้ต้องหาสารภาพว่าลงมือก่อเหตุก็เพียงพอแล้ว ถ้าตำรวจกลัวว่าจะไม่พอ สามารถกำหนดให้หน่วยงานอิสระเข้ามาร่วมตรวจสอบถ่วงดุลได้ เช่นอาจให้อัยการเข้ามานั่งฟังคำรับสารภาพ หรือพาญาติพี่น้องผู้ต้องหามารับฟังด้วย เพื่อพิสูจน์ว่าผู้ต้องหารับสารภาพจริงๆ ไม่ได้ถูกใครบังคับ การพาผู้ต้องหาไปทำแผนฯ จนเหมือนวัตรปฏิบัติของตำรวจไทยที่ต้องทำแทบทุกครั้งเมื่อผู้ต้องหาในคดีที่สังคมสนใจให้การรับสารภาพ เป็นเรื่องที่ไม่ปกติในต่างประเทศ

“เรามีหลัก Presumption of innocence ที่ให้สันนิษฐานว่าบุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน ดังนั้นการทำแผนประกอบคำรับสารภาพเป็นการทำลายหลักการตรงนี้เลย ต่างประเทศเขาจึงไม่ทำกัน แต่คนไทยโดยเฉพาะคนในกระบวนการยุติธรรมยังไม่เข้าใจหลักตรงนี้ เลยส่งผลไปว่าทำไมเราต้องไปคุ้มครองคนที่กระทำผิดอะไรแบบนี้ด้วย สื่อเองก็ไปตอกย้ำภาพของผู้กระทำผิดจนคนในสังคมคิดว่าการนำผู้ต้องหาไปทำแผนฯ เป็นเรื่องที่ถูกต้องด้วย”

นอกจากนี้การนำผู้ต้องหาไปทำแผนฯ ต่อหน้าสาธารณชน และสื่อมวลชน แม้จะบอกว่าไม่ได้บังคับผู้ต้องหามาทำแผนฯ เลย แต่ในต่างประเทศถือว่าการควบคุมตัวลักษณะนี้เหมือนสภาพกึ่งบังคับ ลองคิดดูว่าผู้ต้องหาถูกคุมตัวไปทำแผนฯ ต่อหน้าคนหมู่มาก หากผู้ต้องหาไม่ทำแผนฯ ตามขั้นตอนของตำรวจ จะรู้ได้อย่างไรว่ากลับไปถึงโรงพักแล้วจะมีปัญหาไหม ดังนั้นการทำแผนต่อหน้าคนอื่นจึงไม่เป็นอิสระอย่างยิ่ง

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ซึ่งกล่าวถึงเหตุบรรเทาโทษว่าการที่ผู้ต้องหาไปชี้จุดว่าได้ลงมือก่อเหตุกระทำความผิดใด ถือเป็นการรับสารภาพตั้งแต่ชั้นสอบสวน เมื่อคดีไปถึงชั้นศาลอาจถือเป็นเหตุทำให้ศาลบรรเทาโทษได้ เพราะเห็นว่าผู้ต้องหาได้รับสารภาพและสำนึกมาตั้งแต่แรก ดังนั้นถือว่าผู้ต้องหาได้ประโยชน์จากการทำแผนประกอบคำรับสารภาพด้วยหรือไม่ ? สาวตรีตอบคำถามนี้ว่า

“ที่อ้างว่าการพาผู้ต้องหาไปทำแผนฯ ทำให้ศาลเห็นสมควรลดบรรเทาโทษให้ ต้องนำเรียนว่าศาลสามารถบรรเทาโทษผู้ต้องหาได้เอง เพราะหากมีการสำนึกผิดและสารภาพก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพด้วยซ้ำเพราะมันไม่ใช่เหตุแห่งการบรรเทาโทษทั้งหมด ที่สำคัญมีหลายคดีที่ขึ้นไปสู่ชั้นศาลฎีกาแล้ว ศาลพิจารณายกฟ้องเพราะมีเพียงหลักฐานคำสารภาพผู้ต้องหากับแผนประกอบคำรับสารภาพเท่านั้น ไม่มีพยานหลักฐานอื่นเลย ศาลจึงยกฟ้องเพราะขาดน้ำหนักในการพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำผิดกฎหมายจริง” (ดังคำตัดสินศาลฎีกาที่ 7562/2537 ซึ่งผู้สนใจสามารถสืบค้นได้ที่ http://deka.supremecourt.or.th/search  โดยพิมพ์หมายเลขคำตัดสินศาลฎีกาดังกล่าวไปก็จะพบคำพิพากษานี้ – ผู้เขียน)

หากถามว่าทำไมกระบวนการยุติธรรมของไทยเรากับต่างประเทศถึงแตกต่างกันขนาดนี้ นักวิชาการด้านกฎหมายให้ทัศนะว่า ก่อนมีรัฐธรรมนูญฉบับ ปี พ.ศ. 2540 กระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นแบบ Crime Control Model ซึ่งเป็นกระบวนการแบบเด็ดขาด หาผู้กระทำผิดโดยไม่สนใจสิทธิของผู้ต้องหาเลย พอมีรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 แล้ว จึงได้เปลี่ยนกระบวนการเป็นแบบ Due Process Model เริ่มปกป้องสิทธิของผู้ต้องหา ทันทีที่แจ้งข้อหาต้องแจกแจงสิทธิให้ผู้ต้องหาทราบทุกขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนจับกุม การดำเนินคดีในชั้นศาล จนถึงการนำตัวไปคุมขังในเรือนจำ

การประจานเป็นเครื่องมือควบคุมสังคมในสมัยโบราณ แต่ในสังคมสมัยใหม่นั้นนอกจากคำนึงถึงหลักการรับผิดแล้วยังคำนึงถึงชีวิตของผู้ต้องหาหลังพ้นโทษด้วย ภาพ: จิตรกรรมภายในอุโบสถวัดคงคาราม ราชบุรี จาก ศิลปวัฒนธรรม

“อย่างไรก็ดีแม้กระบวนการทางกฎหมายเปลี่ยน แต่คนที่บังคับใช้กฎหมายไม่ได้เปลี่ยนตามไปด้วย มันจึงกลายเป็นแบบนี้ เราจะเห็นว่าบางคดีตำรวจจับผู้ต้องหามาได้ แล้วมานั่งสั่งสอนผู้ต้องหาแบบสมัยก่อนยังมีให้พบเห็นได้ในปัจจุบัน”

อนาคตข้างหน้าหากจะยุติการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ สาวตรีคิดว่าจำเป็นต้องระบุเป็นกฎหมายไปเลยว่าไม่ให้ทำแผนประทุษกรรม โดยใส่คำว่า ‘เว้นแต่’ แล้วตามด้วยเหตุจำเป็นว่าทำไมต้องทำ

“ถ้าเขียนแบบนี้จะกลายเป็นว่า โดยหลักแล้วห้ามทำแผนฯ แต่มีข้อยกเว้นไว้ว่าให้ทำได้ และการทำแผนฯ ต้องมีหลักเกณฑ์ระบุไว้ชัด เช่นห้ามไปทำต่อหน้าสาธารณชน ตำรวจต้องทำกันเองเพื่อเอาไว้ศึกษากันเองเป็นต้น ทั้งนี้ถ้าตำรวจไม่นำผู้ต้องหาไปทำแผนฯ แล้ว ยังมีวิธีการเยอะแยะในการใช้พยานหลักฐานอื่น เช่นหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์การกระทำผิดของผู้ต้องหาได้ หรืออาจสร้างเกณฑ์ให้หน่วยงานอิสระมาร่วมตรวจสอบช่วยยืนยันคำรับสารภาพของผู้ต้องหาก็สามารถทำได้”

หากถามความรู้สึกทุกครั้งที่เห็นผู้ต้องหาถูกพาตัวไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพแล้วถูกรุมประชาทัณฑ์ สาวตรีแสดงความคิดเห็นว่า

“มันเป็นภาพที่ไม่น่าเกิดขึ้น มันเป็นความโกรธแค้นที่กระทำใส่ผู้ต้องหา ทั้งๆ ที่เราสามารถป้องกันภาพเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้นได้ พอเด็กเห็นภาพแบบนี้ คนในสังคมซึมซับภาพแบบนี้ กลายเป็นการสนับสนุนและปลูกฝังวัฒนธรรมความรุนแรงด้วย”

และสุดท้ายนี้สาวตรีกล่าวถึงบทบาทของสื่อมวลชนในการทำข่าวแผนประกอบคำรับสารภาพว่า

“มีนักศึกษาเคยถามว่าพอถึงช่วงทำแผนฯ หากไม่ให้สื่อเข้าไปทำข่าว จะจำกัดเสรีภาพสื่อไหม เราคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การจำกัดเสรีภาพนะ เพราะยังมีมุมอื่นที่ยังนำเสนอได้ สื่อสามารถมีพื้นที่นำเสนอข่าวในประเด็นอื่นอีกเยอะแยะ การนำเสนอข่าวทำแผนประกอบคำรับสารภาพมีประโยชน์ต่อสาธารณชนอย่างไร ? ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ขอฝากไปยังสื่อมวลชนด้วย

“เมื่อหลายร้อยปีก่อนมีการเอาคนไปทรมานรีดให้รับสารภาพ ปัจจุบันจึงมีกฎว่าทำแบบนี้ไม่ได้ ให้ถือว่าบริสุทธิ์ไว้ก่อน แล้วแสดงหลักฐานพิสูจน์เอาสิว่าจำเลยผิดเพราะอะไร แต่ไม่ใช่ว่าจำเลยจะบริสุทธิ์ผุดผ่องแบบนั้น”

พ.ต.อ.ดร.มานะ เผาะช่วย เลขาธิการสมาคมพนักงานสอบสวน

พ.ต.อ.ดร.มานะ เผาะช่วย ภาพ : Sirpass yardthip.forumth,com

ด้านพ.ต.อ.ดร.มานะ เผาะช่วย เลขาธิการสมาคมพนักงานสอบสวนได้แสดงทัศนะเรื่องการทำแผนประกอบคำรับสารภาพจากมุมมองตำรวจว่า เรื่องนี้ต้องเริ่มที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 ที่ระบุให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถทำได้ ซึ่งข้อกฎหมายนี้กำหนดอย่างกว้างๆ ถึงพยานหลักฐานทั้งหมด ซึ่งแผนประกอบคำรับสารภาพเป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานด้วย

“การจะทำแผนประกอบคำรับสารภาพได้ อย่างแรกเลยผู้ต้องหาต้องรับสารภาพก่อน เพราะถ้าไม่รับก็ไปทำแผนฯ ไม่ได้ และอย่างที่สองคือ ต้องสมัครใจยินยอมไปชี้จุดประกอบคดี ถ้าถามว่ามีความจำเป็นต้องทำไหม ก็ต้องตอบว่าจำเป็น เพราะในชั้นพนักงานสอบสวนอาจเข้าใจพฤติกรรมคดีทั้งหมด แต่ทางอัยการหรือชั้นศาลอาจมองคดีได้ไม่ชัดเจน

“ดังนั้นทางพนักงานสอบสวนหรือตำรวจเองต้องพาผู้ต้องหาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ มีการเตรียมถ่ายรูป ให้ผู้ต้องหาชี้จุดเกิดเหตุ ยิ่งถ้าเป็นคดีฆาตกรรม ต้องจำลองเหตุการณ์ตอนนั้น ดังที่เราเห็นในข่าวว่ามีการนำตุ๊กตามาแทนศพ ตำรวจจะนำภาพถ่ายจากตอนผู้ต้องหาชี้จุดเกิดเหตุและทำแผนฯ ไปรวมอยู่ในสำนวนฯ ซึ่งจะช่วยให้ศาลได้ข้อเท็จจริงกระจ่างแจ้งขึ้น การทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ตำรวจทำมานานแล้ว เป็นเรื่องของขั้นตอนรวบรวมพยานหลักฐาน ไม่ใช่ว่าเพิ่งมาทำกัน”

อย่างไรก็ตามมานะรับว่ามีรูปแบบอื่นที่ใช้แทนการนำผู้ต้องหาไปทำแผนฯ ณ ที่เกิดเหตุเช่นกัน เช่นในช่วงที่ตนไปเรียนปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ ได้เห็นตำรวจอังกฤษมีการทำแผนฯ เช่นกัน เรียกว่า Case re-construction แต่ในอังกฤษไม่นิยมนำผู้ต้องหาออกไปชี้จุดเกิดเหตุ  เมื่อถึงชั้นศาลมีกฎหมายห้ามถ่ายรูปผู้ต้องหาในศาล ต้องใช้การวาดรูปแทน และตำรวจใช้วิธีทำผังเพื่ออธิบายคดีเพื่อให้ลูกขุนที่เข้าร่วมตัดสินคดีเข้าใจและเห็นภาพ

 “มีคนถามเหมือนกันว่า ที่ตำรวจพาผู้ต้องหาไปทำแผนฯ เหมือนล่อเป้าให้คนเข้ามาประชาทัณฑ์ ต้องเข้าใจว่าตำรวจไม่ได้อยากพาผู้ต้องหาไปล่อเป้า หรืออยากพาไปโดนกระทืบ แต่บางคดีที่มันโหด คนก็ไปรุมดู  ตำรวจป้องกันเต็มที่ เพราะถ้าผู้ต้องหาเป็นอะไรตำรวจต้องรับผิดชอบ บางคดีต้องพาผู้ต้องหาไปทำแผนตอนเช้าตรู่ เพื่อไม่ให้คนมารุมมุงก็มี บางครั้งสื่อมวลชนชอบเกาะติดการทำแผนฯ ชอบสัมภาษณ์ผู้ต้องหาให้เล่าถึงช่วงก่อเหตุ ตำรวจเราเองก็ไม่อยากให้ผู้ต้องหาพูดรายละเอียดของคดีหมด ต้องแอบพาไปทำก็มี”

ส่วนคำถามว่าการพาผู้ต้องหาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพขัดต่อหลักการให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นบริสุทธิ์ไว้ก่อนจนกว่าศาลจะตัดสินหรือไม่นั้น ? ประเด็นนี้พ.ต.อ.ดร.มานะแสดงความคิดเห็นว่า

“หลักการตรงนี้มีเพื่อให้โจทก์มีหน้าที่พิสูจน์ความผิดต่อจำเลย ซึ่งในคดีอาญาโจทก์คืออัยการ หลักการตรงนี้เกิดขึ้นมาจากยุโรปที่เมื่อหลายร้อยปีก่อนมีการเอาคนไปทรมานรีดให้รับสารภาพ ปัจจุบันจึงมีกฎว่าทำแบบนี้ไม่ได้ ให้ถือว่าบริสุทธิ์ไว้ก่อน แล้วแสดงหลักฐานพิสูจน์เอาสิว่าจำเลยผิดเพราะอะไร แต่ไม่ใช่ว่าจำเลยจะบริสุทธิ์ผุดผ่องแบบนั้น”

“ผู้ต้องหาเขารับสารภาพและยินดีมาทำแผนอยู่แล้ว เรื่องนี้เรามองว่าสิทธิมนุษยชนไม่เกี่ยวเลย”

โทน นักข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง

ด้านโทน (นามสมมติ) นักข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง กล่าวว่าคดีที่เกิดบนรถเมล์ เกิดกับเด็ก ผู้หญิงและคนชรา จะมีคนเคียดแค้นเฝ้ารอการทำแผนประกอบคำรับสารภาพอยู่เสมอ ซึ่งเขาจะคอยสังเกตและรอให้ได้ภาพตอนคนเข้าประชาทัณฑ์ผู้ต้องหา ที่ผ่านมานักข่าวคนอื่นมักไม่ค่อยได้ภาพ แต่เขาได้เสมอ เพราะเขาคอยดูว่าคนไหนแค้นที่สุด โดยจับตาคนที่เกี่ยวข้องกับผู้ตาย คู่กรณีของผู้ต้องหา คนเหล่านี้ออกอาการชัด ถ้าสังเกตดีๆ รับรองว่าไม่มีทางพลาดภาพเด็ดแน่นอน

“เราไม่ต้องสนใจผู้ต้องหามากนัก ถ่ายแค่ 4-5 รูปพอ เพราะผู้ต้องหาหนีไปไหนไม่ได้หรอก ตำรวจคุมอยู่เป็นร้อย เราต้องมองคนวงนอก พวกนี้ชอบย่องมาหลังนักข่าวแล้วพุ่งเข้าใส่ผู้ต้องหา จังหวะนี้ถ้าเราสังเกตเราจะได้ภาพ ถ้ากดชัตเตอร์ช้า หรือกดตอนตำรวจเข้าล็อกตัวคนที่พุ่งเข้ามาไว้แล้ว ถือว่าช้าเกินไปสำหรับภาพข่าว”

ครั้งหนึ่งมีคดีชิงทรัพย์ร้านทอง ผู้ต้องหายิงพนักงานร้านผู้หญิงบาดเจ็บ ตำรวจจับคนร้ายได้ พามาทำแผนฯ คนรอประชาทัณฑ์เต็มพื้นที่  โทนไปถึงที่เกิดเหตุก่อนตำรวจเพื่อไปดูสถานที่ เขาเห็นสามีของพนักงานร้านทองที่ถูกทำร้าย โทนเข้าไปชี้แนะเขาว่าถ้าจะพุ่งไปทำร้ายผู้ต้องหา ต้องรอสถานการณ์ ไม่ใช่ผู้ต้องหาลงรถตำรวจแล้วทำเลย ตำรวจกันหมด

“เราแนะนำว่า ถ้าผู้ต้องหามาแล้วรอสักพักก่อน ให้ผ่านขั้นตอนทำแผนฯ ไปสักนิด ให้สถานการณ์นิ่งก่อน แล้วมองตาเรา ถ้าเราส่งซิก ค่อยทำ แล้วระหว่างนั้นอย่าไปออกตัวว่าเป็นใคร พอเราส่งซิกแล้ว เขาพุ่งเข้าไปหาผู้ต้องหาเลย เราได้ภาพ แล้วตามมาด้วยขวดน้ำ รองเท้าลอยเต็มมาหมด นักข่าว ตำรวจโดนกันหมด”

โทนได้ภาพเสมอเพราะเขาเดาสถานการณ์ออกและเฝ้าสังเกตว่าใครออกอาการเคียดแค้นผู้ต้องหา ถ้ามองในแง่จรรยาบรรณสื่อนี่อาจไม่เหมาะควรนัก แต่ครั้งหนึ่งการจ้องจับภาพที่แสนขัดหลักสิทธิมนุษยชนของโทนกลับมีประโยชน์ต่อผู้อื่นบ้างเหมือนกัน

“มันมีคดีฆ่าข่มขืนนักศึกษา ตำรวจจับคนร้ายได้ แล้วพามาทำแผนประกอบคำรับสารภาพ คนมามุงรอเป็นร้อยเลย ตำรวจกันสุดชีวิต ไม่ให้คนบุกมาประชาทัณฑ์ แต่มีอยู่คนหลุดไปที่ชั้น 2 ของอาคารใกล้จุดเกิดเหตุซึ่งเป็นที่โล่ง เราเห็นเขาถือหินก้อนใหญ่เตรียมขว้างลงมา เราเลยรีบวิ่งขึ้นไปดึงคนถือหินลงมาได้ก่อน คิดดูสิ ถ้าเขาปาหินก้อนใหญ่ไป จะเกิดอะไรขึ้น หินมันไม่มีตา อาจจะไม่โดนผู้ต้องหา อาจโดนตำรวจ และอาจโดนนักข่าวด้วยกันเองได้”

ครั้งนั้นสายตานักข่าวล่าภาพเด็ดของโทนหยุดชายซึ่งตำรวจไม่เห็นไว้ได้

โทนบอกว่าการทำแผนฯ เป็นเรื่องที่สมควรทำ “ผู้ต้องหาเขารับสารภาพและยินดีมาทำแผนอยู่แล้ว เรื่องนี้เรามองว่าสิทธิมนุษยชนไม่เกี่ยวเลย”

และถ้าในอนาคตไม่มีแผนประกอบคำรับสารภาพอีกต่อไปสื่อมวลชนคิดอย่างไร ? โทนตอบว่า

“เราไม่มีความคิดเห็นอะไรหรอก เพราะมันไม่มีผลกระทบอะไรกับการทำงานข่าวของเราเลย ไม่มีทำแผนฯ ก็เขียนข่าวถ่ายรูปส่งไป”

แต่ถ้ามีการทำแผนประกอบคำรับสารภาพเมื่อไหร่ โทนย้ำว่าตัวเขาไม่พลาดภาพเด็ดแน่นอน

จุดสุดท้ายแล้วของการทำแผน ผู้ต้องหาสาธิตการนำศพไปทิ้ง ชายคนหนึ่งพยายามฝ่าวงล้อมตำรวจ เขาฝ่าคนมาได้ แล้วตะโกนก้องเสียงดังพร้อมพุ่งตัวเข้าไป แต่ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบที่ปะปนกับฝูงชนกันออกไปได้ สื่อมวลชนหันกล้องจากผู้ต้องหา กลับไปหาชายคนนี้ “มันฆ่าน้องกู มันฆ่าน้องกู” เสียงคร่ำครวญของเขาดังซ้ำไปซ้ำมา

ตำรวจรีบพาผู้ต้องหาขึ้นรถตู้ขับออกไปท่ามกลางความโล่งอก เหตุการณ์ผ่านไปด้วยดี หากนักข่าวอาชญากรรมเขียนท่อนสุดท้ายของเหตุการณ์นี้จะต้องเขียนว่า “มีการกระทบกระทั่งกันเล็กน้อย แต่เหตุการณ์โดยรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย”

ส่วนคำตอบของการทำแผนประกอบคำรับสารภาพว่าเหมาะควรหรือไม่ ขอให้ผู้อ่านตรึกตรองเองเถอะ ว่าลึกๆ แล้วเราควรมีให้ทำอยู่หรือไม่อย่างไร ?

บทความนี้ขอเพียงชวนคิด โดยไม่มีคำตอบแนบเฉลยมาให้แต่อย่างใด

เป็นเพียงคำสารภาพของผู้เกี่ยวข้องกับแผนประกอบคำรับสารภาพเพียงเท่านั้น