โดย ชลธร วงศ์รัศมี

อ่าน “จากตำรวจในสงครามยาเสพติดสู่ชีวิตนักโทษประหาร ตอนที่ 1” อ่านได้  ที่นี่

จากตอนที่แล้ว ชาติ เลิศจันทรา’  คือตำรวจผู้ทำหน้าที่ให้นโยบายทำสงครามกับยาเสพติดลุล่วง เขาคือผู้กำหนดชะตาชีวิตผู้อื่นตามใจปรารถนาเพียงแค่ลั่นไกปืน แต่อำนาจนั้นไม่ได้อยู่กับเขาตลอดไป เมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้ว ชาติกลายมาเป็นผู้ด้อยอำนาจที่สุดในสังคม นั่นคือนักโทษประหาร เขาผจญกับความกดดันในคุก จนนิสัยร่าเริงที่เคยมียังต้านทาน “โรคคุก” ไว้ไม่ได้ ชาติเริ่มหลงลืมแม้กระทั่งชื่อลูกสาวของตนเอง…ชีวิตของชาติภายในแดนประหารของชาติจะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามได้ใน “จากตำรวจในสงครามยาเสพติดสู่ชีวิตนักโทษประหาร ตอนที่ 2”

โทษประหารที่หวนคืน

 

เวลาผ่านไปโรคคนคุกของชาติทุเลาลง เขากล่าวว่าเป็นเพราะโจทก์เก่าที่กลายมาเป็นมิตรของเขานั่นเอง

“นายกฯ คนที่ผมจับมานี่ละชวนสมัครเรียน มสธ. ผมได้เรียนหนังสือ ก็มุ่งมั่นกับหนังสือ หนังสือมันเยียวยาผมนะ หนังสือ มสธ. ช่วยให้ผมอยากรู้อยากเห็น แล้วผมก็อยู่กับคนที่เฮฮา เริ่มปรับตัว ปีที่ 1-2 แทบตาย แต่ปีที่ 3 เป็นต้นมา ผมเริ่มดีขึ้นๆ มีอะไรที่เฮฮาขึ้น แล้วไอ้เรื่องที่ลืมก็ลืมไป ชื่อลูกก็ไม่ได้พยายามนึกแล้ว คิดว่าเดี๋ยวสักวันมันคงมา เราต้องนึกได้ แล้วพอนึกได้ผมเขียนไว้เลย แล้วผมก็นึกได้จริงๆ ทั้งชื่อลูก ที่อยู่ จำอะไรได้ก็จดไว้

“อีกอย่างผมใช้วิธีดูเพื่อน ดูรุ่นพี่ที่เขาติดมาเป็น 10 ปี มองคนที่เขาหนักหนากว่าเรา โดยเฉพาะคนที่มีศักยภาพ มีชื่อเสียง มีสถานะ อย่างป๋าลอ (พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ) เราก็ได้เห็น เออ แกก็เดินขากางเหมือนกัน แกโดนเชื่อมตรวนหลายปี หมอวิสุทธิ์ (น.พ.วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ) เช้ามาก็วิ่งอยู่คนเดียวทุกวัน ทั้งที่ติดตรวน แกสวมถุงเท้า ดึงตรวนขึ้นมา เอาโซ่มาผูกไว้ พยายามวิ่งรอบสนาม ทั้งที่สนามเล็กนิดเดียว ในคุกเราต้องหลีกหนีสิ่งที่บดบีบ หาอะไรทำก็ได้ และพยายามทำตัวให้เล็ก ต้องคิดแบบคนติ๊งต๊อง ไม่เอาสาระ ไม่เป็นแก่นสารให้ได้ ถ้าคุณยังคิดเหมือนตอนก่อนเข้ามาในคุก เป็น สว. เป็นหมอ เป็นขุนพลอยู่ คุณจะทนไม่ได้”

ชาติเป็นคนที่ปรับตัวได้ดีคนหนึ่ง ไม่เพียงหาอะไรทำ เช่นการเล่นฟุตซอลกับเพื่อนทั้งที่ต้องเล่นด้วยอุ้มตรวนไปด้วย เรียนปริญญาโทคณะนิติศาสตร์และภาษาจีนทางไปรษณีย์ สอนหนังสือในคุกจนใครๆ พากันเรียกว่าอาจารย์ เขายังแสวงหาอาหารมาเก็บไว้ ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณของคนมีความหวังที่จะมีชีวิต หนุ่มใหญ่ผู้นี้กล่าวถึงอาหารการกินในคุกว่า

“ตอนแรกๆ ผมกินข้าวแดง เป็นข้าวที่มีกลิ่นสาบอับน้ำเหมือนข้าวน้ำท่วม เม็ดโตๆ พองๆ ไม่มีรสชาติอะไรเลย เคี้ยวแล้วไม่อยากกลืน ในข้าวแดงนี่เขาใส่หินเพราะต้องการเพิ่มน้ำหนักข้าว ในข้าว 1 กิโล มีข้าว 8 ขีด มีหิน 2 ขีด นี่คืออัตราส่วนที่เขาส่งเข้าไปในคุก นักโทษยุคนั้นกินหินจนฟันแตกหัก เหงือกฉีก คนมีตังค์ก็ซื้อข้าวจากเมียผู้คุม พอมกราคม 2550 เราเริ่มได้กินข้าวขาว เพราะสำนักข่าวช่องนกพิราบ (Thai PBS) เขาไปตีข่าวเรื่องข้าวนักโทษที่เรือนจำแปดริ้ว ทางเรือนจำจึงเปลี่ยนจากข้าวแดงเป็นข้าวขาว สมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็ปรับปรุงเรื่องข้าวอีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้ข้าวคนคุกดีกว่าร้านข้าวแกงข้างนอกบางร้านด้วย

“ผมเคยเอาเปลือกแตงโมจากถังขยะมาดอง แตงโมข้างนอกลูกละ 20-30 บาท แต่ข้างในคุกขาย 90 บาท ถ้าเราซื้อเรากินแป๊บเดียวหมด แล้วก็ไม่ได้เลี้ยงเพื่อน เราอดดีกว่า เอาเงินไปซื้อเกลือถุงหนึ่ง 3 บาท เอาเปลือกแตงโมล้างน้ำให้ดี แล้วซอยชิ้นพอคำ ใส่ลงไปในขวดโหลที่เขาใส่ขนมปังขาย เอาน้ำต้มสุกใส่พอเสมอ แล้วโรยเกลือ สัก 3 วัน เราจะมีผักแกล้มที่อร่อยมาก

“ยอดเฟื่องฟ้า ยอดโพ ยอดไทร ยอดแก้ว ใบหูกวาง ทุกอย่างกินได้หมด หญ้าใบใหญ่ๆ ที่ไม่ระคายเคืองนี่เป็นยา นักโทษไนจีเรียถอนกินทุกเช้า และมีฟ้าทลายโจรขึ้นบนพื้นปูนที่แดน 14 เราก็ไปเอา ถ้าเห็นมันขึ้นมาสักต้น เราจะคอยประคบประหงม เอาผ้าบังไว้ไม่ให้นายเห็น เพราะนายจะคอยให้ผู้ช่วยถอน”

ชาติกล่าวว่าหญ้าและใบไม้เหล่านี้มีค่ามหาศาล เพราะคือผักของเหล่านักโทษบางขวาง

“ถ้าเรามีกะปิสักกระปุก เราก็บี้กิน อร่อยไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะเปลือกแตงกวานี่ ไม่เหลือ ลูกหูกวางลูกเล็กๆ อร่อยมาก คนอีสานจิ้มกับปลาร้าบอง กระปุกหนึ่งกินได้เป็นอาทิตย์”

ชาติรับมือกับสิ่งต่างๆ ได้ดี จนกระทั่งปี 2552 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาด 2 ราย หลังจากว่างเว้นมานาน เรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่ในสังคม แต่สำหรับคนในคุกนี่คือข่าวร้าย

“คนที่โดนประหารชื่อเอ้กับเฮียบัณฑิต เอ้มีเพื่อนสนิทอยู่ห้องเดียวกับผมชื่อต๋อง มันไม่มีญาติ เอ้เลี้ยงดูต๋องมาตลอด เอ้มีตังค์ มีคนมาเยี่ยม ได้อะไรก็เอามาแบ่งให้ต๋องกินตลอด วันหนึ่งมีคนใส่หมวกไอ้โม่งหิ้วปีกเอ้มา เอ้หันมาทางห้องผมบอกว่า ‘ต๋อง พี่ไปก่อนนะ’ ผมกำลังนั่งอ่านหนังสือ ไอ้ต๋องหลับอยู่ก็ตื่นขึ้น มันอยู่มานานแล้ว พอเห็นคนชุดดำหิ้วเอ้อยู่ มันล้มตึง เป็นลม เพราะรู้ว่านั่นคือคนที่มาเอาตัวนักโทษไปประหาร แต่ผมไม่รู้ เพราะไม่เคยเห็น พอช่วยจนมันฟื้น มันบอกว่าเขาฆ่าพี่เอ้แล้ว ผมบอก ‘อ้าว! ฆ่าแล้วมึงจะตายตามไปด้วยหรือไง’ ผมคิดว่าต๋องล้อเล่นเพราะมันเป็นคนชอบเฮฮา”

หลังจากเหตุการณ์คนชุดดำมาเยือน เกิดเสียงกระซิบทั่วคุกว่ามีการประหารเกิดขึ้นจริง หลังจากนั้นไม่มีเสียงพูดอีกแล้วในห้องขังของนักโทษประหารเด็ดขาด

“ที่เคยมีเสียงโซ่ก๊องแก๊ง เสียงพึมพำข้างห้องเงียบหมด หัวใจผมหมดเลย เราทรุดอีกแล้ว ปิดหนังสือ แล้วยิ่งข่าวบอกว่า นักโทษประหารเด็ดขาดมีอยู่ 36 คน ประหารไปแล้ว 2 เหลือ 34 คนที่โทษเด็ดขาดบางคนอยากฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะคนที่โทษเด็ดขาดมาแล้ว 2-3 ปี บางคนน็อคไปเลย ไม่น่าเชื่อนะ มันเป็นอะไรที่ไม่น่าเชื่อ

“แต่ที่ผมสะเทือนใจจริงๆ คือกรณีของเฮียบัณฑิต วันนั้นลูกของเฮียบัณฑิตมาเยี่ยม ตอนเยี่ยมแกนั่งใกล้กันกับผม ผมได้ยินแกคุยกับลูกว่าอีก 3 เดือนพ่อไม่ตายแล้ว จะมีอภัยโทษ โอ้โฮ! ผมดีใจกับแกมาก ลูกสาวแกน่ารัก แต่งชุดนักศึกษามหา’ลัยมา ผมเห็นแกวิ่งหน้าแดง แกขาวๆ หุ่นตุ้ยนุ้ย แกบอกว่าผมออกไปได้นะผมจะอยู่กับลูก หลังจากเยี่ยมญาติวันนั้น เย็นนั้นแกก็โดนประหารชีวิตพร้อมเอ้

“เฮียบัณฑิตเคยค้ายา แต่หลังจากติดคุก เฮียแกไม่ได้ค้าแล้ว แกทำตัวดี จริงๆ ตัวแกต้องพ้นโทษ แต่เอ้ เป็นคู่คดีที่ถูกจับมาพร้อมกันยังค้ายาอยู่ในเรือนจำ ใช้โทรศัพท์สั่งการ มีลูกน้อง มีเจ้าหน้าที่คอยวิ่งเชื่อมประสาน เอ้มีเงินที่จะให้ มีผู้คุมติดคุกเพราะเรื่องนี้ 3-4 คน พอจะประหาร ด้วยความเป็นคู่คดี มันก็ต้องประหารด้วยกัน

หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ ได้บันทึกคำสัมภาษณ์ของพระครูนนทวัฒน์ แห่งวัดบางแพรกใต้ ผู้มาเทศนาให้นักโทษทั้งสองฟังในวาระสุดท้ายไว้ว่า “ตอนที่อาตมาเทศน์อยู่นั้น นักโทษเด็ดขาดชายบัณฑิตมีอาการเศร้าเสียใจน้ำตาไหลอาบแก้มตลอดเวลา ขณะที่นักโทษเด็ดขาดชายจิรวัฒน์ (เอ้) นั้นนิ่งเงียบ นิ่งสงบ”

“เรื่องของเฮียบัณฑิต ทำให้ผมแต่งเป็นเพลง ชื่อว่า ‘อาชญากรสอนลูก’ แต่ผมร้องไม่เคยจบ เนื้อเพลงว่า พ่อคนไม่ดี ลูกช่วยกู้หน้าให้พ่อ ลูกเป็นคนดี (ร้องไห้) เพลงนี้ผมเคยให้หมอธีรพงษ์ เพื่อนในคุกเอาไปร้อง เขาร้องไม่จบ ผมก็ร้องไม่จบ (ร้องไห้) พยายามอยู่ พอนึกถึงเฮียบัณฑิตแล้วผมสงสาร

“มีเพื่อนผมบางคนไม่ผิดเลย บริสุทธิ์ แต่ติดคุกมาเกือบ 20 ปี กระบวนการยุติธรรมรู้ด้วยว่าเขาไม่ผิด แต่ศาลบอกว่าตัดสินมาแล้ว ถ้ารื้อใหม่ ต่อไปคำตัดสินของศาลไม่ศักดิ์สิทธิ์ นี่คือคำตัดสิน คือคำตอบ ทุกวันนี้เพื่อนผมคนนั้นยังเบลอ ถ้าพูดเรื่องนี้เขาจะเบลอทันที ผมทำผิดจริง ผมยังเจ็บ คนไม่ผิดแล้วมาติดคุกจะรู้สึกไม่รู้จะกี่ร้อยเท่าของผม ผมรู้ได้เพราะว่าเราอยู่ด้วยกันและรับรู้มาตลอด ให้กำลังใจเขามาตลอด แพะก็มีไม่น้อย บางทีศาลรู้อยู่แล้วว่าคนนี้ไม่ได้ผิด อาจจะรู้อยู่แล้วว่าคนโน้นผิดจริง แต่กระบวนการศาลจบไปแล้ว ไม่รื้อมาตัดสินใหม่อีก”

การประหารเอ้และบัณฑิตในปี 2552 คือการประหารที่เกิดขึ้นในขณะที่ทั่วโลกต่างพากันมุ่งไปสู่การยกเลิกโทษประหาร โดยการประหารชีวิตราว 90% ที่ยังเหลืออยู่ล้วนเกิดขึ้นในทวีปเอเชีย หลังกรณีของเอ้และบัณฑิต กลไกทางสิทธิมนุษยชนได้ผลักดันให้ประเทศไทย“หยุดพักใช้โทษประหารชีวิต” (Moratorium on the use of the death penalty) ในทางปฏิบัติคือคงโทษประหารชีวิตไว้แต่ไม่ประหาร หลังการประหารเพื่อนร่วมรุ่นของชาติครั้งนั้น ประเทศไทยว่างเว้นโทษประหารยาวนานต่อมาถึง 9 ปี ชาติมีชีวิตต่อมา

เมื่อลองทำสิ่งที่ถูกต้อง

 

ชาติกล่าวว่าเหตุการณ์เพื่อนถูกประหาร ทำให้เขาเริ่มคิดทบทวนมากขึ้นจากที่ใคร่ครวญมาบ้างแต่ไม่เข้มข้นเท่าครั้งนี้ว่า “ที่ผ่านมาเราถูกผิดดีชั่วขนาดไหน” และได้เกิดจุดเปลี่ยนใหญ่อีกครั้งเมื่อนักเขียนสารคดีชั้นครู อรสม สุทธิสาคร และคณะได้เข้าไปสอนวิชาการเขียนเรื่องเล่าจากประสบการณ์จริงของผู้ต้องขังในแดนประหาร ให้แก่นักโทษประหารชายในบางขวาง ตามมาด้วยกิจกรรมในโครงการกำลังใจ ในพระดำริฯ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ดึงนักโทษไปสู่ด้านสว่างอีกหลายกิจกรรม รวมทั้งการกอดนักโทษอย่างเอื้ออาทร

“3 เดือนให้หลัง ผมได้มาเข้าโครงการกำลังใจฯ และพบกับแม่ใหญ่ (อรสม) เหมือนกับเราโยนทิ้งสิ่งหนักๆ ไปได้ มันโล่ง จากที่เราเคยสงสัยว่าชะตาชีวิตเรากลายเป็นอย่างนี้ได้ยังไง โครงการไม่ได้สอนตรงๆ แต่ทำให้เราเริ่มมองเห็นตัวเอง โดยเฉพาะการได้นั่งเขียนหนังสือ โอ้โห! วิเศษมาก แล้วที่วิเศษที่สุดคือเราได้อ้อมกอดจากแม่ใหญ่ อ้อมกอดนี่วิเศษจริงๆ ทีแรกก็กอดไปอย่างนั้น ผมไม่ได้สนใจหรอก แต่มันมีอะไรที่ทำให้เรารู้สึกอบอุ่น มีพลัง ตอนนั้นเราเริ่มคิดว่าถ้าเราคิดแบบเดิมๆ ออกไปทำแบบเดิมๆ มันไม่ใช่แน่”

การเห็นเพื่อนถูกลงโทษ ทำให้ชาติใคร่ครวญถึงความผิดที่ผ่านมาของตนเอง แต่การได้รับโอกาสและความเมตตาคือสิ่งที่จะทำให้เขาก้าวต่อไปได้อนาคต ในที่สุดวันที่ชาติรอคอยก็มาถึง เขาใกล้จะพ้นโทษ แม้จะสู้คดีไม่ชนะ ศาลฎีกาพิพากษาเสร็จเด็ดขาดให้ประหารชีวิตยืนตามศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ แต่ชาติได้รับการลดโทษจากการพระราชทานอภัยโทษในหลายวาระ ทำให้เขาติดคุกรวมแล้วเพียง 12 ปี

“ตอนเหลืออีก 10 เดือนจะได้ออก ผมนับวัน ดีใจ ไปไหนเฮฮาปาร์ตี้ ใครใช้ทำอะไรทำหมด เอ้า! วิ่งก็วิ่ง ทำโทษอะไรก็ทำ เรารู้สึกว่าเราจะได้ออกไปแล้ว จนเหลือ 1 เดือนจะได้ออก เริ่มนอนไม่หลับ”

ชาติกล่าวว่าความรู้สึกตอนนั้นจะเรียกว่าความผูกพันกับคุกหรือไม่เขายังไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ๆ เขาห่วงใยเพื่อนจนยอมให้ประวัติตนเองด่างพร้อย แม้ข้างนอกชาติจะมีประวัติมืดดำ แต่ในบางขวางเขาเป็นนักโทษชั้นเยี่ยมผู้มีประวัติขาวกริ๊บ ไม่เคยมีบันทึกว่าทำผิดใดๆ ในเรือนจำ

“ช่วงนั้นเรือนจำมีการเปลี่ยนกฎ ไม่ให้มีแม้แต่ยาพ่น ยาลม ยาดม ยาหม่องสำหรับคนแก่ แล้วผมอยู่ตรงนั้น มีการศึกษา จบปริญญาโทนิติศาสตร์ จาก มสธ. แล้ว ผมคิดว่าน่าจะช่วยอะไรเพื่อนได้มั่ง ผมเลยร่างหนังสือและจับไมค์พูดไม่นานมากแค่ 5 นาที บอกเพื่อนว่า ถ้าเราต้องการสบู่สักก้อน ผ้าเช็ดเท้าสักผืน ยาดมสักหลอด ยาลมสักขวดหนึ่ง ยาหม่องสักตลับหนึ่งในห้อง คืนนี้ขอให้ไปเซ็นต์ชื่อกับผมท้ายหนังสือที่ผมร่างไว้ ผมจะส่งถึงผู้มีอำนาจพิจารณา ขอให้ทบทวนกฎที่ออกมาข้อนี้

“พวกเราดีใจ โห่กัน หัวหน้าผู้คุมเดินมาบอกว่าผมพูดไม่ได้ ผมยังไม่ได้รับอนุญาต พอจบคำนั้น นักโทษ 700 กว่าคนโห่ใส่ผู้คุม ผมตกใจ บอกว่าเงียบ Listen me. Calm down. เพราะเรามีนักโทษต่างชาติด้วย ทุกอย่างเราทำตามระเบียบนะ มีกฎเกณฑ์ให้เราทำได้ เสร็จแล้วผมเดินไปขอโทษหัวหน้าผู้คุม เขาปิดห้องเลย ไม่ออกมา อีกไม่กี่วันมีคำสั่งให้ผมไปแดน 10 แดน 10 คือคุกซ้อนคุก”

ผลจากการต่อสู้เพื่อสิ่งที่คิดว่าถูกต้อง ชาติถูกส่งไปแดน 10 หรือแดนขังเดี่ยว ซึ่งแดนนี้มีไว้สำหรับนักโทษที่ ทำผิดกฎของเรือนจำ นักโทษจะถูกขังในห้องเล็กแคบโดยไม่มีสิ่งใดให้ทำ ไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน มีเพียงผู้คุมเปิดช่องเลื่อนถาดอาหารเข้ามาให้วันละ 2 ครั้ง ในรายที่ต้องโทษยาวนานเช่นเป็นปี ต้องอยู่โดยไม่ออกมาเลย 6 เดือนเป็นอย่างต่ำ

“ตั้งแต่มาอยู่บางขวาง ผมไปแดนอื่นทุกแดนแล้ว แต่แดนนี้ไม่มีโอกาสได้เข้า เลยอยากลองไปอยู่ด้วย อยากรู้ว่าขังเดี่ยวเป็นยังไง ความรู้สึกเป็นยังไง เขาบอกมันโหดที่สุดแล้ว ก็ไป ผมโดนตัดชั้นด้วย จากเป็นนักโทษชั้นเยี่ยมโดนตัดไป 2 ชั้น ดีเยี่ยมกับดีมาก กลายเป็นชั้นดี ตอนนั้นผมไม่ยี่หระแล้ว เพราะผมจะออกในอีก 2 เดือนแล้ว แต่ถ้าคุณจะเหลืออีกสัก 1-2 ปี ถ้าคุณโดนตัดชั้นคุณจะติดคุกเพิ่มอีก 3-4 ปี ชั้นเดียวมีผลกับชีวิตมหาศาล ผู้คุมบอกว่า 3 อย่างที่รักษาให้ได้คือ ชั้น ช้อน และชีวิต”

ห้องที่ถูกปิดมาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน มีกลิ่นสาบของเนื้อตัวมนุษย์ปนกลิ่นใบจากคละคลุ้ง คือห้องที่รอรับชาติเข้าไปอยู่ ชาติคุ้นเคยกับผู้อยู่มาก่อนเป็นอย่างดี

“คนไปแดน 10 ส่วนมากจะผูกคอตายเยอะ ช็อต รั่ว เสียผู้เสียคนเยอะ เสียงร้องโหยหวนเป็นสัตว์ป่านี่มีให้ได้ยินตลอด เพราะถูกขังในห้องแคบๆ อยู่คนเดียว ผมได้อยู่ห้องที่เพื่อนผมเคยผูกคอตายเมื่อ 3 เดือนก่อนชื่ออนันต์ เดินเข้าไปนี่ได้กลิ่นไอของมันอยู่ ไอ้นันต์มันไม่ค่อยอาบน้ำเพราะมันเป็นคนช็อต รั่วมาเป็นสิบปีแล้ว เป็นคนที่ผมเป็นห่วงมาตลอด”

ชาติจบนักธรรมเอกและคลุกคลีกับวัดมาตั้งแต่เด็ก เขาได้ใช้ทักษะที่บ่มเพาะมาสวดมนต์และอธิษฐานบอกเพื่อนว่าไม่ต้องกังวลอะไร

“ตอนนอนไม่ใช่ว่านอนหลับนะ แต่ดีอย่าง มีที่กว้างขึ้น เป็นส่วนตัว และมีผ้าหลงอยู่ในห้องน้ำผืนหนึ่ง ผมเอามาผึ่งแล้วใช้ขี้ฝุ่นเขียนบันทึกลงผ้าผืนนั้น ในคุกขี้ฝุ่นมีค่า อย่าไปเช็ด ผมนอนคิดนอนวาด เราต้องตักตวงประสบการณ์และความรู้สึกจากแดน 10 ให้มากที่สุด เพราะถือว่าถ้าคนมาบางขวางไม่ถึงแดน 10 มันไม่ถึงบางขวาง”

อย่าหันกลับไปมอง

 

ก่อนวันที่ชาติจะได้พ้นรั้วบางขวาง เขาปฏิบัติตัวตามขั้นตอนที่ผู้คุมขอให้ทำทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นพิมพ์ลายนิ้วมือ ตรวจเลือด กรอกประวัติ ฯลฯ ยกเว้นเพียงอย่างเดียว ที่ชาติผู้รู้สิทธิตนเองว่านักโทษชั้นดีที่พ้นโทษโดยไม่ได้ขอพักโทษอย่างเขามีสิทธิ์ปฏิเสธสิ่งนั้นที่ผู้คุมร้องขอ

“ผมไม่ให้ DNA การเก็บ DNA จะทำให้คุณกลายเป็นแพะได้ตลอดเวลา ถ้าวันหนึ่งเจ้าหน้าที่ทำอะไรคุณไม่ได้ เขาอาจให้บุหรี่คุณสูบสักมวน ดื่มน้ำสักแก้ว แล้วเอาก้นบุหรี่หรือแก้วน้ำไปทิ้งไว้ที่เกิดเหตุ มีคดีข่มขืนคดีหนึ่ง คนถูกจับบอกว่าขวดน้ำในที่เกิดเหตุมี DNA ของเขา ตำรวจยื่นน้ำให้กินที่โรงพัก บุหรี่ที่อยู่ในที่เกิดเหตุก็คือบุหรี่ที่สูบบนโรงพัก ติดคุกเป็นปีกว่าจะได้ออก เป็นข่าวใหญ่เมื่อหลายปีก่อน”

หลังจากตรวจตราทุกสิ่งอย่างรอบคอบ เคลียร์ใจกับผู้คุมทุกราย ประตูสู่เสรีภาพค่อยๆ ง่าแง้ม แต่ชาติกลับละล้าละลังอยู่หลังประตูนั้น

“ตอนเหลือโทษสัก 5 วัน มีความรู้สึกไม่อยากออกจากคุกขึ้นมา บอกกับตัวเองว่าอยู่ตรงนี้ได้ก็อยู่เถอะวะ แล้วสอนหนังสืออยู่ในนี้ ช่วยเหลือนักโทษ เป็นปากเสียงให้นักโทษอยู่ในนี้ เริ่มไม่อยากออกล่ะ มันแปลกนะ มันเกิดมาได้ยังไง

“2-3 วันก่อนออก เพื่อนมาทักว่า ‘อ้าว! พี่ จะกลับบ้านแล้วเหรอ’ ผมรู้สึกสงสารคนที่ยังอยู่ ใจหาย ออกไปแล้วก็สงสารญาติ สงสารลูกที่มีพ่อเป็นขี้คุก มันคิดไปเรื่อย โลเลว่าอยากไปหรืออยากอยู่ อีกใจก็มั่นใจว่า เออ เราน่าจะออกไปใช้ชีวิตข้างนอกได้นะ ผมบอกเพื่อนว่าถ้าผู้คุมจะขังกูต่อสัก 3 วันกูก็ยอม ให้กูทำใจก่อน

“วันที่ผมจะไป ผมนั่งตรงที่เขาให้เยี่ยมญาติจนถึงบ่ายสาม จนนั่งต่อไม่ได้ก็เดินออกมาหน้าเรือนจำ พี่ชายมารับ ผมบอกพี่ชายว่าเดินไปทางเลียบกำแพงคุกดีกว่า พี่ผมบอกว่า ‘มึงน่ะอาลัยอะไรคุก! อาลัยอะไร!’ (หัวเราะ) และห้ามผมกลับไปมอง แต่ผมคิดว่าไม่มีอะไรที่ไม่น่ามอง คุกให้อะไรผมเยอะมาก ผมว่าทั้งชีวิตผม ผมได้อะไรจากที่นี่มากที่สุด”

หลังออกจากบางขวางชาติไม่ได้ไปไหนไกล แม้พี่ชายจะมารับเพื่อพาไปนอนที่บ้าน แต่เมื่อเดินผ่านวัดบางแพรกใต้ซึ่งมีกำแพงติดบางขวาง ชาติก็ตัดสินใจบวช

คุณมีสูตรแป้งคีบับไหม

 

“ทำงานแบบนี้ เรื่องลูกเมียไม่ต้องพูดถึง ผมไม่คิดเลย การมีเมียเหมือนเป็นอุบัติเหตุมากกว่า พ่อเขาโดนยิง ผมไปทำคดีแล้วสงสาร แม่เขาตายตั้งแต่เขาเล็กๆ เขาไม่มีพ่อไม่มีแม่เลยดูแลเขา ทุกวันนี้ก็ยังสงสาร นึกถึงตอนที่พ่อเขาโดนยิง” ชาติกล่าวถึงแม่ของลูก

“เมื่อก่อนตอนอยู่ด้วยกันใหม่ๆ ผมบอกเขาประจำว่า ถ้าก้าวออกจากบ้านให้คิดว่าพี่ตาย พอหลายๆ ครั้งเข้า เขาก็พูดมาคำหนึ่งว่า ‘ก็มันไม่ตายน่ะ’ (หัวเราะ) ตอนอยู่ในคุกผมเขียนจดหมายไปขอให้เขาไม่ต้องรอ ความจริงผมต้องการให้ตัวผมลืมไปเลยว่าเรามีครอบครัว เพื่อที่จะไม่บ้า ให้ตาย ไม่ต้องพะวง เวลาเมียมาเยี่ยมผมจากชุมพร ผมนอนไม่หลับทั้งคืน ลูกเมียมาพักที่ไหน กลับถึงบ้านดีไหม ผมเป็นทุกข์มาก มันรู้สึกหนักมาก ผมบอกเมียว่าให้คิดเสียผมว่าตายแล้ว ผมพูดคำนี้กับเขาอีกครั้งหนึ่ง”

ชาติผู้รู้สึกผิดต่อเมียที่เมื่อเป็นตำรวจก็ทิ้งให้เมียอยู่ตามลำพังบ่อยครั้ง เมื่อเป็นนักโทษก็เขียนจดหมายตัดสัมพันธ์ เขาจึงครองผ้าเหลืองโดยสงบและไม่กลับบ้าน แต่ลูกสาวติดต่อมาและจัดแจงให้ชาติได้พบครอบครัวขณะที่ชาติยังบวชอยู่

“ผมเห็นทั้งลูกทั้งเมียที่สายตาระทมทุกข์ มันบอกอะไรเราเยอะมาก โดยเฉพาะเมียเรา เขาเหนื่อยขนาดไหนเขาถึงเป็นอย่างนี้ เขาแก่ลงไปเยอะเลย เอ๊ะ! ทำไมเราติดคุก 12 ปี เมียเราแก่ขนาดนี้ เมียผมเป็นคนพูดไม่เก่ง แต่ผมรู้ว่าเขาเลี้ยงลูกสามคน ผ่อนรถที่ผมดาวน์ไว้จนหมด เขาบอกว่าถ้าพร้อมเมื่อไหร่ ผมอยากเข้าบ้านวันไหนก็ไป เขาไม่เรียกร้อง”

ชาติสึกหลังบวชได้ 3 เดือน แต่ด้วยความละอายและเกรงใจ เขารั้งรอเวลาที่จะ “เข้าบ้าน” ออกไปอีกเนิ่นนาน จนกระทั่งวาระนั้นมาถึง ในคืนนั้นเขามาถึงบ้านที่เงียบเชียบและผุพังทรุดโทรมแทบไม่เหลือเค้าเดิม

“มองเข้าไปในบ้าน ผมเห็นเปลเด็กแกว่งอยู่ ผมนึกโมโหว่ามีคนอยู่ แต่ทำไมไม่มีใครออกมาดูผมหน่อย ผมเดินเข้าไปในบ้าน ไปถึงเห็นเมียยืนไกวเปล ผมเพิ่งรู้ว่าถ้าแกว่งแล้วหยุดหลานจะร้องอีก เขาเลยไม่ออกมา หลานคนนี้ผมตั้งชื่อให้จากในคุก ผมยืนมองหลาน เฮ้ย! มันยิ้มให้ผม

“ผมนึกสงสารเมีย นึกถึงอ้อมกอดที่ผมเคยได้รับจากแม่ใหญ่ ผมก็ต้องกอดเมีย แต่เขาไม่กอดผม เพราะเขายังไม่เชื่อ ผมบอกเขาว่าผมผิดเอง เพราะเขาคอยห้ามไม่ให้ผมทำอะไรที่ผิด แล้วเราก็เริ่มคุย ทบทวน มันข้ามความรู้สึกว่ายังรักกันไหม ข้ามอะไรไปเยอะมาก แต่มามองสิ่งที่เขาผ่านมาได้ตอนเราอยู่ในคุก กับที่เราจะไปกันต่อ ผมคิดมากว่าเราจะทิ้งให้เขาอยู่อย่างนี้หรือเราจะทำยังไงกับเขา

“ผมตัดสินใจไปอยู่ช่วยเขาทำมาหากิน เขาเอาบิลที่ผ่อนรถมาให้ดู 1,600,000 บาท หมดตอนที่ผมออกจากคุก ลูกก็เรียนจบตอนผมออกจากคุก เขาทำน้ำหวานขายที่โรงเรียน บางวันเขาต้องซีลแก้วน้ำวันละ 500 – 1,000 แก้ว เขาต้องขยับเอาแก้วเข้าเครื่องซีลเป็นพันครั้งเพื่อที่พรุ่งนี้จะแช่เย็นแล้วเอาไปขาย โห ผมลองทำหลายครั้ง ทุกวันนี้ผมยังทำอย่างเขาไม่ได้ เขาบอกว่ายังไงลูกก็ต้องไม่ลำบาก เขาเคยทำงานแล้วหมดแรง เป็นลมไปเลย เพราะต้องเร่งหาเงิน จันทร์ถึงศุกร์ขายที่โรงเรียนตอนเที่ยง เย็นไปขายที่ตลาดนัด วันไหนมีใครสั่งน้ำไปใช้ในงานบวช งานแต่งงาน งานศพ ฯลฯ เมียผมแทบไม่ได้นอน”

“คุณมีสูตรแป้งคีบับไหม ?” ชาติเอ่ยขึ้น เขาบอกว่าเขาอยากเปิดร้านขายคีบับ อาหารสัญชาติตุรกีให้ลูกสาวที่เรียนจบปริญญาตรีมาทำ ชาติกล่าวว่าเขาฝึกทำแป้งเนื้อนุ่มที่ใช้ห่อคีบับครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ยังไม่เข้าที่สักที

ทุกวันนี้ชาติยังคบหาเพื่อนๆ ศิษย์เก่าบางขวาง อดีต นายก อบต. มิตรในคุกของชาติสู้คดีจนชนะ ออกมาเล่นการเมืองท้องถิ่นแล้วเรียบร้อย ความผูกพันระหว่างชาติและเขาแน่นแฟ้นยิ่งกว่าเดิม และชาติยังคิดสร้างงานสร้างอาชีพให้เพื่อนๆ ที่จะพ้นโทษออกมาด้วยไอเดียพรั่งพรู ชาติใช้ชีวิตต่อไป

ขอขอบคุณแหล่งที่มาของภาพ
1. รายการคนค้นฅน ตอน ‘วันกลับบ้าน’ https://www.youtube.com/watch?v=kF0Vz6D9QgQ
2. สารคดีชุด ‘เปิดแดนชีวิต’ ไทยพีบีเอส https://www.youtube.com/watch?v=uJouGHjwaXg
3. สารคดี ‘เรื่องจริงยิ่งต้องเล่า’ Spring News https://www.youtube.com/watch?v=QyqlixdLzBo
.
ขอขอบคุณข้อมูล
1. บทสัมภาษณ์พระวัดบางแพรกใต้: ‘ผู้จัดการออนไลน์’ https://mgronline.com/crime/detail/9520000096967
2. บทความ ’10 ความเชื่อและความจริง… เหตุผลทำไมไม่ควรมีโทษประหารชีวิต?’ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย https://www.amnesty.or.th/latest/blog/43/