คอลัมน์: ผมรักกีฬามากกว่าเมีย
เรื่อง: ปองธรรม สุทธิสาคร  ภาพ: John Stewart

มูฮัมหมัด อาลี ยินยอมสูญเสียช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์ที่สุดของชีวิต เพราะไม่ต้องการเดินทางข้ามโลกไปฆ่าคนที่เขาไม่รู้จัก

1.

‘พลิ้วไหวดุจผีเสื้อ แต่ต่อยเจ็บเหมือนผึ้ง’ คือฉายาที่มูฮัมหมัด อาลี ได้รับการยกย่องในฐานะนักมวย นอกจากลีลาบนสังเวียน เขายังมีฉายาว่า ‘สิงห์จอมโว’ เนื่องจากชอบกวนประสาท ยั่วโมโหฝ่ายตรงข้ามด้วยการคุยโตว่าจะชนะน็อกในยกนั้นบ้างยกนี้บ้าง ทว่าหลายครั้งคำพูดดังกล่าวเป็นความเป็นจริง

ในปี 1964-1967 เวลานั้น อาลีคือแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวท เป็นนักมวยที่ยากจะต่อกรด้วย ภายใต้การดูแลของ แองเจโล ดันดี สุดยอดเทรนเนอร์หมายเลข 1 ของโลก อาลีมีลีลาการชกแตกต่างไปจากนักมวยรุ่นยักษ์คนอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่เน้นไปที่การเดินตัดเวทีให้แคบลง แล้วไล่ชกคู่ต่อสู้ด้วยพลังหมัดรุนแรง หากแต่นักมวยหนุ่มจากหลุยส์วิลล์ เขาพัฒนาไปไกลกว่านั้น

อาลีมีฟุตเวิร์คที่รวดเร็ว เคลื่อนไหวแคล่วคล่องว่องไวเหมือนนักชกรุ่นเล็ก มีไอคิวในการชกที่ฉลาด สายตาเฉียบคมหลบหลีกหมัดคู่ต่อสู้ได้เก่ง ขณะเดียวกันพลังกำปั้นยังหนักหน่วงรุนแรง ดูจากสถิติชนะน็อก 37 ไฟต์ จากชัยชนะ 56 ครั้ง จะบอกว่าเขาเป็นนักมวยน้ำหนักหมัดธรรมดาคงไม่ใช่เป็นแน่ อาลีมีอาวุธรอบกายหลายอย่างทรงประสิทธิภาพมากกว่านั้น

26 กุมภาพันธ์ 1964 ในการชิงแชมป์โลกครั้งแรก มูฮัมหมัด อาลี ในวัย 22 ปี ต้องเจอกับ ซอนนี ลิสตัน นักชกร่างยักษ์ผู้มีการชกดุดัน พลังกำปั้นหนักหน่วง ซ้ำร้ายยังเคยต้องโทษในเรือนจำมาก่อน คนทั้งโลกต่างคิดว่าอาลีจะโดนไล่ถลุงคาเวที ทว่าสิงห์จอมโวอย่างเขามั่นใจว่าไม่มีทางเป็นเช่นนั้น ในวันชั่งน้ำหนัก เขาประกาศกับนักข่าวทุกสำนักว่า เขาจะสอนท่านอนสวยๆ บนเวทีให้ลิสตัน พร้อมสำทับต่อว่าลิสตันจะพังพาบภายในไม่เกิน 8 ยก

ผลการชกเป็นไปอย่างที่อาลีว่าไว้ ซอนนี ลิสตันโดนนักชกรุ่นน้องถลุงยับเสียจนไม่ยอมออกจากมุมเมื่อระฆังเริ่มต้นยกที่ 8 ดังขึ้น

หลังได้แชมป์โลก มูฮัมหมัด อาลี ประกาศว่าเขาจะเป็นแชมป์โลกของประชาชน เป็นแชมป์ที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ที่สำคัญเขาจะเป็นแชมป์ในแบบที่ตัวเองอยากเป็น มากกว่าเป็นแชมป์ในแบบที่คนอื่นอยากให้เป็น

มันไม่ใช่แค่วาทกรรมสวยหรู หากแต่ในเวลาต่อมา มูฮัมหมัด อาลี ได้ทำไว้อย่างที่เขาพูดจริงๆ

2

หลังจากได้แชมป์รุ่นเฮฟวี่เวทในปี 1964 อาลีป้องกันแชมป์สำเร็จเรื่อยมา แทบทั้งหมดเป็นการชกแบบไล่ต้อนคู่แข่งอยู่ข้างเดียว

ซอนนี ลิสตัน ที่ใครหลายคนคิดว่าอาลีเอาชนะได้แชมป์มาแบบพลิกล็อก ขอชกแก้มือใหม่อีกครั้ง ซึ่งถูกอาลีอัปเปอร์คัตลงไปกองแพ้น็อกตั้งแต่ยกแรก (หลังสอยลิสตันลงไปนอน อาลีได้ยืนท้าทายบอกให้ลิสตันลุกขึ้นมาใหม่ ซึ่งภาพดังกล่าวนับเป็นหนึ่งในภาพถ่ายกีฬาที่ดีที่สุดภาพหนึ่งของโลก)

ว่ากันตามตรงในวินาทีนั้น มูฮัมหมัด อาลี กำลังทะยานพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดในอาชีพของตนเอง หลายคนคาดการณ์ว่าเขาจะเป็นนักมวยที่เก่งและครบเครื่องที่สุดเท่าที่โลกนี้เคยมีมา

ขนาดอายุ 22-23 ปี ยังหาใครทาบยาก แล้วถ้าอีก 3-4 ปีข้างหน้า เขามีอายุ 26-27 ปี ซึ่งอยู่ในช่วงจุดสูงสุดของนักกีฬา (26-29 ปี โดยประมาณ) มีพร้อมทั้งพละกำลัง ประสบการณ์ ความสามารถทุกอย่าง อาลีจะสุดยอดขนาดไหน ไม่ต้องพูดถึงชื่อเสียง เกียรติยศ เงินทอง ที่จะมีมากไปกว่านี้อีกไม่รู้กี่เท่า

อย่างไรก็ตามสิ่งนั้นกลับไม่ได้เกิดขึ้นในชีวิตของ มูฮัมหมัด อาลี

3

สงครามเวียดนามเป็นสงครามที่ยืดเยื้อยาวนาน โดยกินเวลาตั้งแต่ปลายปี 1955 ไปจนถึงต้นปี 1975 รวมแล้วเกือบ 20 ปี

ช่วงเวลาดังกล่าวยาวนานเสียจนเด็กน้อยเติบโตกลายเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ เปลี่ยนชายวัยกลางคนให้เป็นผู้เฒ่าชราภาพ เวลากว่า 2 ทศวรรษ ของสงครามเวียดนามเปลี่ยนแปลงสิ่งหนึ่งไปสู่สิ่งหนึ่งได้ แต่สิ่งที่ไม่มีทางเปลี่ยนแปลง คือชีวิตของผู้คนที่ดับสูญราวผักปลา บางคนแม้รอดชีวิตแต่กลายเป็นคนพิการ หลายคนต้องอยู่กับภาพความทรงจำเลวร้ายของสงครามไปตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ ยอดผู้เสียชีวิตนับล้าน และผู้บาดเจ็บที่มากกว่าเท่าตัว คือตัวเลขคร่าวๆ ที่บอกว่ามนุษย์ได้ประหัตประหารมนุษย์ด้วยกันเอง

ช่วงเวลานั้นรัฐบาลสหรัฐอเมริกาส่งหมายเรียกไปถึงชายหนุ่มทั่วประเทศเพื่อให้มาเข้ารับการคัดเลือกเป็นทหาร ก่อนส่งเหล่าคนหนุ่มเหล่านี้ไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าร่วมรบในสงครามนี้ ผู้คนในประเทศมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทว่าสุดท้ายปฏิเสธกฎของกองทัพไม่ได้อยู่ดี ไม่เว้นแม้แต่แชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวทอย่าง มูฮัมหมัด อาลี

ปี 1966 อาลีได้รับหมายเรียกเกณฑ์ทหาร เพื่อเข้าร่วมรบในสงครามเวียดนาม ด้วยสรีระร่างกายที่แข็งแรง ทำให้เขาได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มดีหนึ่งประเภทหนึ่ง ทว่าด้วยความเป็นบุคคลมีชื่อเสียง ทางรัฐบาลและกองทัพได้ให้สัญญากับอาลีว่า เขาจะอยู่ห่างไกลจากสมรภูมิ ไม่ต้องไปเสี่ยงชีวิตสู้รบเหมือนกับทหารคนอื่นๆ รวมทั้งยังสามารถชกมวยต่อไปได้ และไม่ต้องติดคุกโทษฐานหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร

คนสนิทรอบข้างต่างแสดงความคิดเห็นว่าอาลีควรจะยอมทำตามกฎที่รัฐบาลตั้งไว้เพื่อจะได้ไม่ต้องมีปัญหา และอีก 4-5 ปี ต่อจากนี้ จะเป็นช่วงรุ่งโรจน์ของเขา ซึ่งมวยแม่เหล็กอย่างอาลีสามารถกอบโกยเงินทองได้อีกมหาศาล

อย่างไรก็ตามอาลี ไม่ได้คิดถึงเรื่องชื่อเสียง เกียรติยศ เงินทองเป็นที่ตั้ง ยอดมวยอัจฉริยะคิดถึงเรื่องมนุษยธรรมและความถูกต้องมาเป็นลำดับแรก ทำไมเขาจะต้องไปเป็นทหาร ? แล้วทำไมเขาจะต้องเดินทางเพื่อไปฆ่าคนที่เขาไม่รู้จัก ?

“ไม่เคยมีเวียดกงคนไหนเรียกผมว่าไอ้มืด แล้วทำไมผมจะต้องเดินทางไปฆ่าพวกเขาด้วย” อาลีบอกนักข่าวหลังจากเขาปฏิเสธการเกณฑ์ทหาร ซี่งนั่นอาจทำให้เขาต้องรับโทษสูงสุดด้วยการจำคุกถึง 5 ปี และปรับอีก 10,000 ดอลลาร์ ทว่าอาลีไม่ได้หวั่นกลัว เขายังคงยืนหยัดในจุดยืนของตัวเอง

“ผมจะพูดอย่างที่ผมคิด และผมไม่เคยกลัวที่จะพูดอย่างที่ผมคิด แล้วผมก็มีสิทธิที่จะทำแบบนั้นด้วย”

หลังปฏิเสธการเกณฑ์ทหาร อาลีถูกดำเนินคดีตามโทษสูงสุดที่กำหนดไว้ โดยระหว่างการยื่นอุทธรณ์ เขาถูกสั่งห้ามชกมวยอย่างเด็ดขาด นั่นทำให้ตำแหน่งแชมป์โลกของเขาว่างลงก่อนจะมีการชกเพื่อหาแชมป์โลกคนใหม่ขึ้นมาครองตำแหน่งแทน ในวันคืนที่ควรจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิต มูฮัมหมัด อาลี สูญเสียเข็มขัดแชมป์โลกให้แก่นักมวยคนอื่น

เขาไม่ได้พ่ายแพ้ให้แก่นักมวยคนใด หากแต่เลือกที่จะไม่เดินออกจากมุมไปสู้รบปรบมือกับใครในเวทีชีวิตจริง

4

28 มิถุนายน 1971 การร้องขอความเป็นธรรมของอาลีประสบความสำเร็จ เมื่อคำตัดสินของศาลสูงสุดมีมติยกฟ้องด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 0 ทำให้ให้อาลีไม่มีความผิดจากการปฏิเสธการเกณฑ์ทหาร เขาสามารถกลับมาชกมวยได้อีกครั้งหลังจากร้างเวทีไปราว 3 ปีเศษ ซึ่งช่วงเวลาที่หายไปนั้น แทบทุกคนต่างเห็นตรงกันว่าน่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของเขา

จนถึงวันนี้คำถามดังกล่าวยังคงเป็นปริศนาในวงการมวย ว่าหาก มูฮัมหมัด อาลี ไม่ถูกสั่งริบแชมป์และห้ามชกมวยในช่วงเวลา 3 ปีกว่านั้น ลีลาของเขาบนเวทีจะสุดยอด น่าตื่นตาตื่นใจขนาดไหน เขาจะเป็นนักมวยที่เก่งที่สุดเท่าที่โลกนี้อนุญาตให้มีหรือไม่

หลังห่างหายจากการชกไปนาน มูฮัมหมัด อาลี กลับคืนสู่สังเวียนอีกครั้งก่อนประกาศความยิ่งใหญ่ ทวงเข็มขัดแชมป์โลกกลับคืนมาด้วยการเอาชนะ จอร์จ โฟร์แมน นักชกที่ว่ากันว่าหมัดหนักที่สุดในโลกในยกที่ 8 ที่สาธารณรัฐซาอีร์ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 1974 ขณะนั้นอาลีอายุ 32 ปีแล้ว ส่วนโฟร์แมนยังหนุ่มแน่นอายุแค่ 25 ปีเท่านั้น

หลังทวงแชมป์โลกกลับมาได้ มูฮัมหมัด อาลี ยังขึ้นชกอีกหลายครั้ง โดยมีทั้งแพ้และชนะปะปนกันไป ก่อนจะตัดสินใจแขวนนวมอย่างเด็ดขาด เมื่อปลายปี 1981 เหลืออีกไม่กี่เดือนเขาจะมีอายุครบ 40 ปี

สิ่งที่ผู้คนจดจำ มูฮัมหมัด อาลี แม้กระทั่งในวันที่เขาจากโลกนี้ไปแล้ว (อาลีเสียชีวิตด้วยโรคพาร์กินสันและระบบทางเดินหายใจเมื่อ 3 มิถุนายน 2016) กลับไม่ใช่แค่เรื่องของลีลาการชกที่สวยงามบนสังเวียนผ้าใบ การเป็นนักมวยจอมโวที่มั่นใจในตัวเองสูง หรือการประสบความสำเร็จเป็นแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวทและเหรียญทองโอลิมปิก หากแต่สิ่งหนึ่งที่ผู้คนยังรำลึกถึงเขาจนถึงทุกวันนี้คือการเลือกที่จะหยัดยืนในอุดมการณ์ โดยการไม่เข้าร่วมรบในสงคราม แม้ว่าจะต้องสูญเสียช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ในชีวิตก็ตาม

สำหรับอาลี การเป็นแชมป์ถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญและเป้าหมายใหญ่ของชีวิต หากแต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือชีวิตและเลือดเนื้อของผู้คน แม้จะเป็นผู้คนที่เขาไม่เคยรู้จักมาก่อนเลยก็ตาม

มันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าเราจะต่อยอดความสำเร็จในชีวิตออกไป โดยที่ชีวิตของผู้อื่นต้องดับดิ้นลง ความสำเร็จของเราจะเป็นความสำเร็จที่สวยงามได้อย่างไร ถ้าต้องแลกมาด้วยการผลาญพร่าฆ่าแกงคนที่อยู่บนโลกเดียวกัน

น่าคิดเหลือเกินว่าถ้า มูฮัมหมัด อาลี เลือกทางเดินอีกแบบให้กับชีวิต วันนี้เขาจะเป็นแชมป์โลกแบบไหน ? อย่างไร ?

เขาคงจะเป็นนักมวยที่ร่ำรวยความสำเร็จ

แต่จะไม่ได้เป็นมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่เหมือนอย่างทุกวันนี้และตลอดกาล.