โดย ลีนาร์ กาซอ
แปลจากบทความ : How capitalism ruined our relationship with bacteria ใน The Conversation และ Bacteria: Friend or Foe? ใน Though.Co
แบคทีเรียเป็นเพื่อนหรือศัตรูของมนุษย์กันแน่ ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตสองสายพันธ์นี้ยังคงอยู่ในสถานะ “It’s complicated” แต่ไม่ว่าจะมองความสัมพันธ์นี้ในด้านใด เงินปีละ 65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ไหลเข้ากระเป๋าบริษัทผลิตสินค้าทำความสะอาดในบ้านอยู่ดี
ด้วยกลไกง่ายๆ แต่ทรงพลังของโฆษณาผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อที่เดินตามเส้นเรื่องคลาสสิกเหล่านี้ มักวางตัวแบคทีเรียเป็นผู้ร้ายที่กำลังแผ่ขยายการปนเปื้อนคุกคามชีวิตมนุษย์ และสินค้าทั้งเจล สบู่ แป้ง โฟมเป็นฮีโร่ช่วยปกป้อง พวกเราถูกทำให้คิดถึงแบคทีเรียในฐานะตัวกัดกร่อนความสะอาดและรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้มีอำนาจ นำไปสู่ความสัมพันธ์ไม่น่าไว้ใจและกั้นขอบเขตแยกเรากับแบคทีเรียขาดจากกัน
ผ่านมาเกือบร้อยปีโฆษณาสมัยนี้ยังคงให้ภาพแบคทีเรียเป็นสิ่งที่ น่ากลัว/ต้องกำจัด เหมือนโฆษณาเมื่อร้อยปีก่อน คนใช้ยาฆ่าเชื้อขับไล่แบคทีเรียจนตกขอบเหวในภาพแรก, 1910. Wellcome Collection. CC BY กับเครื่องฟอกอากาศที่รอจัดการแบคทีเรียที่รี่เข้าโพรงจมูกมนุษย์ส่งสารไม่ต่างกัน, 2009. Ad Survey
แบคทีเรียถูกทำให้เห็นเป็นภาพจนเราหวาดกลัวได้อย่างไร? ทั้งที่เราไม่อาจเห็นด้วยตาของตัวเองด้วยซ้ำหากไม่ได้อาศัยกล้องจุลทรรศน์ เอาเข้าจริงๆ แล้ว นอกจากแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ จริงๆ แล้วพวกเราที่เหลือแทบไม่เคยเห็นแบคทีเรียตามที่เป็นจริง แต่เราเห็นมันผ่านแว่นตาของโฆษณาผลิตภัณฑ์ต้านแบคทีเรียต่างๆ
ภาพของแบคทีเรียที่สะท้อนผ่านโฆษณาตั้งแต่ปี 1848 จนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดภาพแบคทีเรียตามขนบซึ่งแบ่งได้กว้างๆ 4 ขนบ ขนบเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างเรากับมิติด้านชีววิทยาแสนสำคัญของโลกได้กลายเป็นวัตถุดิบและเป้าหมายสำหรับสร้างความปรารถนาให้โฆษณาสินค้าทำความสะอาดได้อย่างไร
1. แบคทีเรียน่ารักน่าเอ็นดู
ขณะที่เราพิจารณาโฆษณาแสดงภาพแบคทีเรียขนาดเล็กจิ๋ว ตาโต แขนขาเล็ก ดูน่ารักคล้ายของเล่น นี่เป็นเรื่องแปลก ที่ในเวลาเดียวกันเราอาจอยากกำจัดมันทิ้งไปเป็นพันล้านตัว
นั่นเพราะความน่ารักส่งผลค่อนข้างแปลกต่อผู้มองเห็น แน่นอนเราต้องการสัมผัส โอบอุ้ม หรือกระทั่งปกป้องสิ่งที่น่ารักนั้นเหมือนของเล่นนุ่มนิ่มสักชิ้นหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันวัตถุที่น่ารักได้ส่งผลเป็นปฏิกิริยาชั้นรองที่ซับซ้อนนั่นคือทำให้เรารู้สึกได้ถึงความเปราะบางไร้อำนาจ น่าสงสาร และไร้คุณค่าในตัวเอง จนเราอาจรู้สึกดูแคลนได้
แบคทีเรียจากซีรีส์โทรทัศน์ Bacteria Family, 2016. iSpotTV
ดังนั้นการตัดสินว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งน่ารักอาจประกอบไปด้วยความต้องการสัมผัส เกาะกุม ควบคุม จนถึงขั้นทำลาย ในอีกแง่หนึ่งก็พูดได้ว่า เป็นทั้งความพึงพอใจและรังเกียจได้พร้อมกัน
แล้วอะไรอีกบ้างที่มักถูกให้ภาพ ‘น่ารัก’ อยู่บ่อยๆ ในสุนทรียศาสตร์การบริโภค – ผู้หญิง เด็ก และบางครั้งก็เทคโนโลยี ต่างถูกมองว่าอันตรายและต้องถูกควบคุม ความเป็นจริงที่น่ากระอักกระอ่วนคือ บ่อยครั้งความน่ารักทำให้สิ่งที่น่ารักตกอยู่ใต้เส้นการให้คุณค่าทางจริยศาสตร์ ผลที่ตามมาคือ บ่อยครั้งเราไม่รู้สึกผิดกับการกำจัดสิ่งน่ารักเหล่านี้ทิ้งอย่างไม่ไยดี
2. แบคทีเรียยั้วเยี้ย
ภาพขยายของก้นถ้วยชาในยุคที่ชาวอังกฤษเกิดความวิตกต่อภาวะประชากรล้นเกิน. 1828. Wellcome Collection. CC BY
แบคทีเรียไม่ได้โผล่มาหนึ่งหรือสองตัวแต่มากันทีเป็นพันล้าน อาจดูน่ากลัวและกระตุ้นให้นึกถึงภาวะประชากรล้นเกิน นี่อาจเป็นการพ้องกันที่ดูเลื่อนลอย แต่การเพิ่มจำนวนประชากรที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 ถูกโยงเข้ากับความขยะแขยงแบคทีเรีย ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มนุษย์มีความรู้เกี่ยวกับแบคทีเรียมากขึ้นหลังจากเรามีกล้องจุลทรรศน์
ภาพหญิงสาวแสดงอาการหวาดกลัวปริมาณแบคทีเรียในก้นถ้วยชาที่ถูกขยายให้ใหญ่เบิ้มนี้ เกิดขึ้นในช่วงจำนวนประชากรในลอนดอนกำลังขยาย และเป็นช่วงรุ่งอรุณของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ประชากรล้นโลกของมัลทัส (Malthus) คนในลอนดอนแออัดยัดเยียด แม่น้ำเทมส์กลายเป็นเหมือนท่อน้ำเสียแบบเปิด สภาพแออัดเหล่านี้สร้างความหวาดกลัวทางเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดขึ้น
ความวิตกกังวลจากการจับคู่ที่น่าหนักใจ ระหว่างภาวะประชากรล้นเกินกับการแพร่กระจายของแบคทีเรียยังถูกกระตุ้นในภาพแบคทีเรียร่วมสมัย แบคทีเรียแต่ละตัวจะอิงแอบและเบียดบังซึ่งกันและกัน ความใกล้ชิดสนิทสนมของพวกมันนั้นถูกดูหมิ่นและควบคุมด้วยความทันสมัย ถูกสาปแช่งด้วยตารางกรีดตรงกริ๊บของวิทยาศาสตร์และการควบคุมประชากร การบรรจบกันครั้งประวัติศาสตร์ของปัจจัยเหล่านี้ทำให้แบคทีเรียกลายเป็นและยังคงเป็นช่องทางแสดงออกถึงความหวาดกลัวภาวะประชากรล้นเกิน ความหวาดกลัวผู้อพยพ และพาลนึกไปถึงความเสื่อมโทรมจากการใช้ชีวิตใกล้ชิดกับสิ่งมีชีวิตอื่นอีกนับล้าน
3. แบคทีเรียยากจน
พื้นที่สกปรกและยากจน – เป็นคำตอบที่มักโผล่มาทันทีเมื่ออยากรู้แหล่งที่อยู่ของแบคทีเรีย และนั่นนำไปสู่ภาพผู้ติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีร่างกายผอมบาง ฟันและผิวพรรณไม่สะอาดสดใส สวมเสื้อผ้าสกปรกซอมซ่อไม่พอดี ลงท้ายคือการมองว่าพวกเขาเป็นอาชญากร
ภาพเหล่านี้ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับภาพผู้บริโภคที่มีปัญญาใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ซึ่งมักแสดงภาพออกมาเป็นชนชั้นกลางร่างกายสะอาดดูดีและมีงานทำ ขณะที่ ‘พวกเขา’ ถูกสร้างภาพให้เป็นชนชั้นล่าง สกปรก และเกียจคร้าน
ภาพจากโฆษณาแอลกฮอล์และเจลล้างมือยี่ห้อ “ศิริบัญชา” ของไทย ซึ่งมีเกษตรกร คนดื่มเหล้า แม่บ้าน คนใช้แรงงาน ชาวบ้าน คนขายล็อตเตอรี คนข้ามเพศ คนเปื้อนเหงื่อไคล คนผิวคล้ำ ฯลฯ เป็นภาพแทนความสกปรกซึ่งคนรักสะอาดเสี่ยงที่จะพบได้ในที่สาธารณะ, 2013. AdRuby
4. แบคทีเรียผิดปกติทางเพศ
ภาพล้อเลียนการรังเกียจเกย์ของคนอนุรักษนิยมที่ห่อหุ้มตัวไว้มิดชิดเพื่อไม่ให้ติดเชื้อโรค ซึ่งพวกเขาวิตกว่าเกย์คือพาหะแพร่เชื้อ, 2014. The Guardian
แบคทีเรียกลายเป็นตัวร้ายที่ขัดแย้งกับอุดมการณ์แบบครอบครัวเดี่ยวชนชั้นกลางผิวขาว กลายเป็นว่า คนที่ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อจะถูกเหมารวมไปอยู่ในกลุ่ม “สกปรก” ทางเพศด้วย
โฆษณาตัวหนึ่งในปี 2010 ฉายภาพให้เห็นหญิงสาวชุดแดงนอนลงกลางตรอกมืดๆ เต็มไปด้วยถุงขยะพร้อมข้อความว่า “อย่าเพิ่งนอนทั้งที่สกปรก” (Don’t Go to Bed Dirty) ถือเป็นการรวมกันของนัยยะ ผูกโยงทั้งความสำส่อนทางเพศกับแบคทีเรียที่ถูกมองว่าน่ารังเกียจตามมาตรฐานชนชั้นกลางผิวขาวด้วยกันทั้งคู่ หรือบทจำในโฆษณาที่ว่า “เชื้อโรคไม่อาจสืบพันธุ์ได้” (germs just can’t reproduce) ยังเป็นการบอกกลายๆ ว่าแบคทีเรียเป็นภาพจำของกลุ่มรักเพศเดียวกัน โฆษณาอีกชิ้นหนึ่งเป็นรูปชายชนชั้นกลางสวมสูทตามแบบฉบับ ล้อมรอบด้วยร่องรอยแบคทีเรียของผู้ใช้ห้องน้ำสาธารณะก่อนหน้าเขารวมทั้งชายข้ามเพศ เช่นเดียวกันกับโฆษณาชวนเชื่อในอดีตที่เตือนให้ทหารหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้หญิง โดยเปรียบเทียบกับการติดเชื้อโรคจากแบคทีเรีย
ทำไมต้องสนใจความสัมพันธ์นี้ด้วย
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง Parasite ซึ่งเสียดสีความจริงในสังคมว่าคนจนนั้นมีสภาพความเป็นอยู่ไม่ต่างจากปรสิตและอาจเป็นเชื้อโรคในสายตาคนรวยอีกด้วย, 2019. The Korea Herald.
แนวคิดต่อสิ่งต่างๆ ล้วนสะท้อนตัวตนของเรา และภาพร่างของแบคทีเรียที่ปรากฏในวัฒนธรรมตามกระแสนิยมก็เป็นภาพร่างของเราเองด้วย
จากงานวิจัยของ นอราห์ แคมป์เบลล์ นักวิชาการด้านการตลาด และคอร์แม็ค ดีน นักวิชาการด้านสื่อ ได้อธิบายว่า “แบคทีเรียคือความกลัวในสิ่งที่เราอาจเป็น บ่งบอกมุมมองของเราต่อประเด็นทางสังคมที่เราไม่กล้าเผชิญหน้าโดยตรง เพราะทั้งมนุษย์และแบคทีเรียต่างก็เป็นสิ่งซับซ้อนด้วยกันทั้งคู่”
โชคไม่ดีนัก สิ่งนี้ส่งผลต่อโลกและสิ่งที่เราใช้ชีวิตอยู่ด้วย ซึ่งรวมทั้งตัวเราเองและแบคทีเรีย มีแบคทีเรียอยู่ประมาณ 5,000,000,000,000,000,000 ตัวในโลกนี้ หากพวกมันแต่ละตัวเป็นเหรียญเพนนี แล้วเรานำพวกมันมาเรียงต่อกัน ระยะทางที่ทอดยาวนั้นจะไกลหนึ่งพันล้านปีแสง พวกมันทั้งซับซ้อน และเป็นหน่วยปฐมภูมิแสนโบร่ำโบราณ
ตลอดศตวรรษที่ผ่านมา วงการสินค้าทำความสะอาดอาศัยความรู้สึกหวาดกลัวและขยะแขยงแบคทีเรียกอบโกยยอดขายมาเนิ่นนาน การใช้สารฆ่าเชื้อมากเกินไปแสดงถึงความล้มเหลวครั้งใหญ่ของการตลาดและจะนำเราไปสู่ทางตันของระบบนิเวศวิทยา ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่านี่คือปัญหาใหญ่โตกว่าโลกร้อนเสียอีก
สิ่งที่จะทำได้ในตอนนี้คือกลับมาคิดใหม่ แบคทีเรียคืออาณาจักรที่เราต้องอาศัยอยู่ ความคิดว่าเราสามารถวิ่งหนีมันมาได้นั้นบ้าบิ่นสิ้นดี และในเมื่ออยู่ในระบบนิเวศวิทยาเดียวกัน ก็น่าจะหาวิธีอยู่ร่วมกันได้แทนที่จ้องจะกำจัดทิ้งอย่างเดียว
เช่นเดียวกันกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย