เรื่องและภาพ: ชลธร วงศ์รัศมี
“ไม่มีใครอยากเครียด ไม่มีใครอยากกดดัน ทุกคนอยากกินข้าว ทุกคนอยากกินของอร่อย ทุกคนอยากมีงานทำ แต่นุชกินไม่ได้ นุชกินแล้วอ้วกออกมา”
ข้อความข้างต้นคือคำพูดของชญาดา ตระกูลรุ่งโรจน์ (นุช) พนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ผู้ตรวจพบวงเงินผิดปกติของใบประทวนในโครงการรับจำนำข้าวตั้งแต่ปี 2558 หลังจากนั้นความเครียดทุกรูปแบบได้ถาโถมเข้าหาเธอ
เมื่อชาวนาเข้าสู่โครงการรับจำนำข้าว ‘ใบประทวน’ จะเป็นเหมือนเช็กเงินสดของชาวนา เมื่อชาวนานำข้าวมาเข้าโครงการฯ โรงสีจะออกใบประทวนที่ระบุถึงน้ำหนักข้าวและราคาประเมิน แล้วให้ชาวนานำใบประทวนไปขึ้นเงินที่ ธ.ก.ส. ซึ่งถือเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลัง การค้นพบของชญาดาจุดชนวนข้อสงสัยว่า หรือแท้ที่จริงแล้วโครงการรับจำนำข้าวไม่ได้ก่อหนี้ต่อรัฐสูงเท่าที่ปรากฏ เพราะในยอดหนี้เหล่านั้นอาจปะปนด้วยตัวเลขที่ ‘ไม่ปกติ’ ร่วมด้วยจำนวนมาก?
“หลายครั้งธนาคารตั้งกล้อง ใช้วิธีการกดดันทุกรูปแบบ หรือบางครั้งสอบสวนเป็นวัน นุชมีทริกนิดหนึ่ง เวลาถูกสอบสวน วิธีง่ายๆ ของนุชคือนุชพกน้ำเยอะๆ แล้วกินมันเข้าไป เมื่อไหร่นุชเหนื่อย นุชจะบอกเขาว่านุชปวดฉี่ นุชจะพูดแนวฮาๆ เพื่อไม่ให้เขากดดันเราได้ หรือถ้าเขาพูดว่าน้องผิดนะรู้มั้ย นุชก็จะบอกว่าผิดได้ยังไง คนสวยทำอะไรไม่ผิด ถ้าเราตามอารมณ์เขา เราจะตกเป็นเครื่องมือให้เขากดดันเราได้ ถ้าใครจริงจังกับชีวิตมากไป อาจทนกับความกดดันอย่างที่นุชเจอไม่ได้” ชญาดาเล่า
ชญาดา เป็นคนสุราษฎร์ธานี เธอสังกัด ธ.ส.ก.จังหวัดสุราษฎร์ธานีบ้านเกิดอยู่ 3 ปีก่อนเข้ามาทำงานที่ ธกส. สำนักงานใหญ่ เมื่อเดือนตุลาคม 2557 ในตำแหน่งพนักงานวิเคราะห์งานสินเชื่อ ระดับ 4 สังกัดฝ่ายกิจการนโยบายรัฐ กลุ่มงบประมาณภาครัฐ ช่วงแรกๆ ชีวิตของเธอปกติดี จนกระทั่งตุลาคม 2558 เธอได้รับมอบหมายงานให้ตรวจสอบ รวบรวม และจัดทำบัญชีโครงการรับจำนำข้าวในปี 2554-2557 ตามที่อัยการของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองร้องขอพยานวัตถุ ประกอบคดียื่นฟ้องอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังจากนั้นข้อมูลที่เธอค้นพบระหว่างการทำงานเริ่มเปลี่ยนชีวิตเธอ ท้ายที่สุดเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 ชญาดาได้ถูกเลิกจ้างตามคำสั่งธนาคาร
Pepperoni News สัมภาษณ์เจาะลึกกับชญาดา ตระกูลรุ่งโรจน์ ถึงเบื้องลึกโครงการรับจำนำข้าว ชีวิตในที่ทำงานที่เต็มไปด้วยถ้อยคำอ่อนโยนปลอบประโลมจากคนของธนาคารแทบทุกฝ่ายขอให้เธอหลบเร้นจากไปเงียบๆ จากสังคม การเผชิญฐานะผู้ป่วยจิตเวชทั้งที่ปกติ ข้อค้นพบของเธอที่สั่นสะเทือนทั้งสังคม-การเมือง การถูกรุมจีบจากพรรคการเมืองหลายพรรค และตัวตนอีกด้านของเธอ การเป็นสาวหวานและเจ้าแม่ D.I.Y.
Ep. 1 เมื่อเพื่อนร่วมงานเริ่มหายไป

Pepperoni : จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดเริ่มจากตรงไหน
ชญาดา : “จุดเริ่มต้นคือเดือนมิถุนายน 2558 นุชนั่งทำงานอยู่ดีๆ ให้นุชมาเซ็นต์รับรองเอกสารแจ้งภาระหนี้ (ใบประทวนและเอกสารอื่นๆ) 3,000 ล้านบาท ทั้งที่เราเพิ่งย้ายมา ตอนนั้นนุชยังไม่คิดอะไรมาก จากนั้นนุชเริ่มเห็นความผิดปกติ ลูกจ้างที่ธนาคารจ้างมาตรวจสอบเอกสารค่อยๆ ทยอยลาออกไปหลายคน สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อคนอื่นไม่เซ็นต์ เราก็ต้องเซ็นต์เอง
“พอเดือนตุลาคม 2558 ผอ. ฝ่ายนโยบายรัฐคนเดิม ซึ่งดูงานด้านโยบายรัฐมานานถูกย้ายไปดูแลงานด้านอื่น แล้วโยกเอา ผอ. คนใหม่ที่เดิมอยู่ด้านกลยุทธ์การตลาด ดูด้านผลิตภัณฑ์และแคมเปญต่างๆ มาแทน จากนั้นนุชถูกวางตัวให้เตรียมเอกสารยื่นให้ศาลคดียิ่งลักษณ์ตามที่อัยการขอ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยน นุชเริ่มเครียดหนักตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”
Pepperoni : “คุณพบอะไรผิดปกติในเอกสาร ?”
ชญาดา : “ใบประทวนพวกนั้น นุชอ่านหมดไม่ได้หรอกค่ะ มันเยอะ อ่านไม่ไหว มีทั้งรายชื่อลูกค้า ใบประทวน ใบเงินกู้ ตอนแรกนุชสุ่มเพื่อตรวจสอบ ก็ไม่พบความผิดปกติอะไร เพราะเขาเอาให้เราเซ็นต์ทีละเยอะๆ เราก็นั่งเอะใจ เซ็นต์ได้ด้วยเหรอวะ เราเป็นพนักงานชั้นผู้น้อย ซี 4 เพิ่งย้ายมาจากสำนักงานที่สุราษฎร์ฯ ได้ไม่ถึงปีหลังจากนั้นนุชย้อนไปดูใบประทวนมูลค่า 3,000 ล้านที่เราเคยเซ็นต์ในเดือนมิถุนายน 2558 แล้วไล่ดูอีก 9,000 ล้าน ในเดือนกรกฎาคม 2558 นุชพบบางอย่างแล้วรายงานกับต้นสังกัดด้วยความเอะใจ แต่ทุกคนบอกว่าถูกแล้ว”
Pepperoni : “คุณบอกว่าเอกสารเยอะมาก แล้วคุณพบความผิดปกติได้ยังไง ?”
ชญาดา : “เราดูจากเอกสารเราดูไม่ออกหรอกค่ะ มันเยอะ นุชเลยประสานขอไฟล์มาจากฝ่ายที่มีไฟล์เอ็กซ์เซล ขนาดไฟล์ดิบก็ยังยาก ไม่รู้ว่าต้องใช้คอมฯ ระดับไหนถึงจะเร็ว โหลดกันขนลุกค่ะ มันเยอะมาก ต้องตั้งสติดีๆ เลย แต่ถ้าเราใช้เอ็กเซลตรวจสอบจะง่ายขึ้น นุชใส่สูตร ถ้าคนทำเป็นจะรู้ ยอดไหนซ้ำกันจะขึ้นมาเลย ไม่ต้องหาให้ปวดหัวค่ะ ถ้าเราไปนั่งเปิดเอกสาร ไม่รู้ชาติไหนจะหาเจอ”
Pepperoni : “สิ่งที่คุณพบคืออะไร ที่ว่าเป็นความผิดปกติในเอกสาร ?”
ชญาดา : “พบหลายแบบค่ะ ซึ่งบางแบบนุชได้เขียนในสำนวนที่ส่งฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางและยื่นต่อศาลแล้วเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 แบบแรกคือสรุปภาระหนี้ในโครงการรับจำนำข้าวเพื่อแจ้งหนี้ไปองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ไม่ถูกต้อง เช่น ใส่วงเงินหนี้ของลูกค้าหนึ่งคนซ้ำกันมากกว่าหนึ่งครั้ง หรือแจ้งหนี้ซ้ำ ซึ่งพอตอนจ่ายเงิน ธ.ก.ส. ก็จ่ายเงินตามใบประทวนคือออกเงินทีเดียว แต่ยอดที่แจ้งหนี้ซ้ำกลายเป็นภาระจ่ายที่ตกไปอยู่กับรัฐบาล ทั้งในส่วนของเงินดอกเบี้ยและการชดเชยผลขาดทุน คล้ายๆ กับการโกงบิลใบเสร็จ เบิกมากกว่าที่จ่ายจริง ซึ่งนุชไม่รู้จริงๆ ว่าใครรู้เห็นอะไรยังไง เรายังแปลกใจเลยว่าทำไมคนไม่ทักกันเลย และมีการโอนเงินผิดคนทั้งๆ ที่ลูกค้าไม่ได้จำนำข้าว
Pepperoni : “ความผิดปกติแบบอื่นๆ ที่คุณค้นพบมีอะไรอีก ?”
ชญาดา : “แบบที่สอง คือพบวงเงินโอนออกจากธนาคารเข้าบัญชีลูกค้าในโครงการรับจำนำข้าวและโครงการมันสำปะหลังผิดปกติค่ะ เช่นพบวงเงินตามใบประทวนของลูกค้าหลายคนมีมูลค่าเท่ากันและเลขใบประทวนเรียงต่อกันหรือไล่เลี่ยกัน แบบที่สาม พบว่าการสรุปบัญชีรายงานกรอบวงเงินของโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งตามที่คณะกรรมการบูรณาการจำนำข้าวสรุปมา มีการนำวงเงินการระบายมันสำปะหลังเข้ามาหักชำระด้วย ซึ่งนุชทักท้วงขอดูการตีความตาม มติ ครม. เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถกระทำได้หรือไม่ แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบจากผู้ที่เกี่ยวข้อง”
Pepperoni : “ปกติการทำงานใหญ่ขนาดนี้ต้องมีการตรวจสอบหลายขั้นตอน และทาง ธ.ก.ส. ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนเท่านั้น มีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบ มีคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานรัฐหลายองค์กร รวมทั้งมีผู้แทนสภาวิชาชีพบัญชีร่วมเป็นอนุกรรมการด้วย แต่ไม่มีใครทักท้วงเรื่องนี้ คุณจะอธิบายเรื่องนี้ว่าอย่างไร ?”
ชญาดา : “ใช่ค่ะ ปกติก่อนการแจ้งหนี้จำนำข้าวไปยัง อ.ต.ก. อคส. กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลัง หลังจากขั้นตอนตรวจสอบสินเชื่อของนุชแล้ว เราจะต้องให้ฝ่ายบัญชีกับฝ่ายกฎหมายเซ็นต์รับรองด้วย เมื่อปี 2558 นุชพบว่าสามตัวเลขคือ รัฐบาลให้เงินมาเท่าไหร่ จ่ายเงินไปเท่าไหร่ แจ้งหนี้ไปเท่าไหร่ ทำไมหักลบกันแล้วไม่พอดีกัน ซึ่งพอนุชพบความผิดปกติและแจ้งกับทางธนาคาร นุชก็งงเพราะฝ่ายกฎหมายก็ไม่ทัก ฝ่ายบัญชีก็ไม่ทัก ส่งไป อ.ต.ก. อคส. กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ รัฐบาลก็ไม่ทัก ทำไมไม่มีใครทักวะ เราทักอยู่คนเดียว ถ้าเป็นหลักน้อยๆ อาจคิดว่าเป็นความผิดพลาดเชิงเทคนิคได้ แต่พอเป็นมูลค่าสูงมาก นุชก็ไม่เข้าใจว่าทำไมทุกคนบอกไม่ตรงกัน เราพูดอยู่คนเดียวเลยว่าพี่เบิ้ลเลขทำไม”
Pepperoni : “ทาง ธ.ก.ส. ได้ชี้แจงแล้วว่าสิ่งที่คุณค้นพบไม่ได้เกิดจากการทุจริตแต่เป็นความผิดพลาดจากระบบ เกิดจากการสรุปบัญชีคลาดเคลื่อนและได้แก้ไขแล้ว (“เมื่อตรวจพบข้อมูล ที่บันทึกไม่ถูกต้อง ธนาคารได้มีกระบวนการสอบทานและแก้ไขให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงตามแต่ละกรณีเรียบร้อยแล้ว” จากเอกสารชี้แจงกรณีพนักงาน ธ.ก.ส.ถูกเลิกจ้าง ที่ สสป พิเศษ 203) จากคำชี้แจงนี้ มีคุณมีความคิดว่าอย่างไร ?”
ชญาดา : “เท่าที่นุชรู้ ทางธนาคารอ้างว่าแก้ไขแล้วตามวงเงินที่นุชชี้มูลไปซึ่งเป็นการแก้ไขหลังจากนุชร้องทุกข์กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 ส่วนที่เหลือแก้ไขแล้วหรือยัง ? ฝากสื่อมวลชนติดตามด้วยค่ะ และที่สำคัญหลังธนาคารออกมาชี้แจงว่าการผิดพลาดเกิดจากระบบ นุชได้ทำหนังสือถามไปยังธนาคารว่า ความผิดพลาดเกิดจากระบบ ‘ที่บันทึกไม่ถูกต้อง’ ส่วนไหน อย่างไร ผิดพลาดจากระบบอะไร ซึ่งธนาคารตอบนุชกลับมาแค่ว่าผิดพลาดจากระบบ และธนาคารมาแก้ไขเมื่อปี 2561 ทั้งที่นุชชี้มูลไปตั้งแต่ปี 2558”
Pepperoni : “คุณพบความผิดปกติเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ?”
ชญาดา : “ไม่รู้จริงๆ สุ่มไงคะ นุชจำได้ว่าวันนั้นมาไล่งาน จากปมเล็กๆ ที่เอาไฟล์มาไล่ แล้วเจอเยอะขึ้นๆ ครั้งแรกแสนเดียวเอง ครั้งที่สองสามล้าน ครั้งต่อมาพบความผิดปกติมากถึง 150 ล้านบาทจากการสุ่มตรวจแค่เดือนเดียว ประเด็นคือแค่สุ่มแต่ทำไมพบมากถึงขนาดนี้ วันที่เราถูกโยกย้ายเข้าไปโครงการรักษาสุขภาพ หรือวันที่ธนาคารเริ่มบอกว่าเราป่วย เราได้แต่ถามในใจว่า แสดงว่าตัวเลขที่เรายังไม่ได้ไล่ตรวจเป็นแบบนี้อีกเยอะเหรอ ? ในใจเราสงสัยตลอดว่าเยอะเหรอ ?”
Ep. 2 เหตุการณ์ปกติและยาจิตเวช

Pepperoni : “คุณบอกเรื่องนี้กับใครบ้างตั้งแต่เกิดเรื่อง ?”
ชญาดา : “พอเจอความผิดปกติสามล้านนุชบอกต้นสังกัด คือฝ่ายนโยบายรัฐก่อนว่าพี่อย่างนี้ไม่ได้แล้วนะ นุชชี้มูลความผิดปกติทั้งหมด และขอทราบที่มาที่ไปทั้งหมด แต่ผู้บริหารแทบทุกคนยืนยันว่าการแจ้งภาระหนี้ที่ส่งไปยัง อ.ต.ก. และ อคส. ถูกต้องแล้ว ให้นุชทำงานต่อไป
“มีการกดดันมาเป็นระยะๆ มีอยู่วันหนึ่ง นุชเจอเจ้าหน้าที่ธนาคารฝ่ายตรวจสอบที่คอนโดฯ เขาพยายามบอกให้นุชจบเรื่อง มาพูดหว่านล้อมเรา ว่าให้เรายุติไหม เดี๋ยวผมจะช่วยพูดให้ เป็นวันที่นุชกลัวและเครียดมากที่สุดวันหนึ่ง ผู้บริหารบางคนบอกว่านุชกังวลเกินกว่าเหตุ และเกลี้ยกล่อมให้นุชออกห่างจากเรื่องนี้ บอกว่าถ้านุชยังจดจ่อกับเรื่องนี้เขากลัวนุชจะเครียด บางคนแนะนำให้นุชไปพักผ่อนก่อน ถามนุชว่าวันลาเหลือไหม ลากลับบ้านที่สุราษฎร์ฯ ไหม ในตอนนั้นนุชยังมองว่าพวกเขาอาจจะหวังดี จนกระทั่งผู้บริหารหลายคนพยายามเกลี้ยกล่อม หว่านล้อม และจัดการให้นุชไปพบหมอถึงสี่ครั้ง ซึ่งนุชไปแค่สามครั้ง”
Pepperoni : “การพบหมอแต่ละครั้งเป็นอย่างไรบ้าง ?”
ชญาดา : “ครั้งแรก ต้นเดือนธันวาคม 2558 ทางธนาคารมีคำสั่งให้พนักงานคนหนึ่งในธนาคารพานุชไปโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนทั่วๆ ไป ไม่ใช่โรงพยาบาลทางจิตเวช ในตอนแรกนุชไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะถูกพาตัวมาพบจิตแพทย์ เหตุการณ์วันนั้นคือ แพทย์จ่ายยามาจำนวนหนึ่ง หลังจากนั้นนุชกับเจ้าหน้าที่ธนาคารก็ต่างคนต่างกลับ
“จนมาถึงกลางเดือน หลังจากมีการประชุมสรุปกรอบวงเงินในโครงการรับจำนำข้าว ภายใต้คณะกรรมการบูรณาการจำนำข้าว นุชได้โต้แย้งวงเงินที่สรุปอีกครั้ง ว่าอาจผิดพลาด และขอทราบมติ ครม. หลังจากนั้นนุชถูกกดดันรุนแรงจากหัวหน้างาน และถูกกลุ่มผู้บริหารของฝ่ายนโยบายรัฐเรียกพบ การพูดคุยสร้างความสับสนให้นุชมาก มีการพูดในลักษณะชี้นำให้นุชกลัว พูดว่านุชต้องรับการรักษาอย่างจริงจัง แล้วทางพวกเขาจะช่วย ให้นุชถอยออกมาจากงานก่อน นุชต้องกินยานะ เดี๋ยวทางธนาคารจะส่งทีมมาดูแลนุชโดยเฉพาะ
“วันหนึ่งมีกลุ่มเจ้าหน้าที่ธนาคาร 4 คนพานุชไปกินข้าวและให้นุชกินยาหลังอาหาร จนนุชเกิดอาการเมายาที่ธนาคาร แทนที่วันนั้นนุชจะได้รับยาแค่นั้น กลับกลายเป็นได้รับยามากขึ้นเพราะกลุ่มคนพวกนั้นบอกว่านี่คืออาการป่วยของนุช ให้กินยาเพิ่มระงับอาการ จนนุชเกิดอาการควบคุมสติไม่ได้ จากการได้รับยากล่อมประสาททั้งๆที่ตัวเองไม่ได้ป่วยทางจิต”
Pepperoni : “ยานั้นส่งผลกับคุณอย่างไรบ้าง ?”
ชญาดา : “เหตุการณ์หลังจากนั้นนุชจำอะไรไม่ได้เลยค่ะ ฟังมาจากคนที่อยู่ในเหตุการณ์ มีคนบอกว่า นุชหักตรารถเบนซ์ที่จอดอยู่ เดินวนเวียนตะโกน เดินไปหยิบนมในเซเว่นฯ มากินโดยไม่จ่ายเงิน จนสุดท้ายสลบไป ถูกหามส่งโรงพยาบาล ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กลุ่มผู้บริหารยิ่งเกลี้ยกล่อมให้นุชเชื่อว่านุชป่วย โดยที่นุชได้แต่ทวงถามผลแพทย์ทั้งหมดจากพวกเขา จนถึงตอนนี้ 3 ปีแล้วค่ะ ที่ผลแพทย์ยังคงถูกปกปิดไว้
“ครั้งที่สองและสามคือเดือนกุมภาพันธ์ปี 2559 เขาพยายามจะให้นุชไปพบหมออีก นุชบอกว่านุชไม่ไป ทางธนาคารจึงให้หมอซึ่งเป็นคนละคนกับหมอคนแรกมาถึงธนาคาร มีผู้บริหาร 4 คนพานุชไปหาหมอที่ธนาคาร
โดยที่พวกเค้าเข้าไปพูดคุยกับหมอก่อน แล้วก็ให้นุชเข้าไปพบคนเดียว พอออกมา พวกเขา 4 คนก็กลับเข้าไปคุยกับหมออีก วันนั้นมีการกันคนไม่ให้ผ่านเข้าออกบริเวณนั้น สถานการณ์ตอนนั้นบีบให้เรารู้สึกตึงเครียดและกดดัน
“บ่ายวันเดียวกัน ทางธนาคารเอารายชื่อโรงพยาบาลเอกชนมาให้นุชเลือกอีก ทั้ง 4 คนพานุชไปกินข้าวเที่ยงแล้วให้นุชกินยาตามที่แพทย์สั่ง หลังจากนั้นเค้าพูดหว่านล้อมให้นุชไปหาหมออีกโรงพยาบาลหนึ่งให้ได้ นุชปฏิเสธและถามถึงสาเหตุว่าทำไมนุชถึงต้องพบแพทย์อีกเป็นโรงพยาบาลที่ 3 แต่ทั้งสี่คนบอกว่าอยากให้นุชได้รับการรักษาเพราะเป็นห่วง ย้ำให้นุชกินยาตามที่แพทย์สั่ง แต่นุชยืนยันไม่ขอไปหาหมออีก วันนั้นเป็นวันศุกร์ พอวันจันทร์ทางธนาคารก็จัดการให้นุชไปพบหมอที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ให้นุชเตรียมตัว ธนาคารจัดรถตู้แล้ว และให้เจ้าหน้าที่ธนาคารอีก 2 คนที่ไม่ได้สนิทสนมหรือรู้จักกับนุชทั้งในด้านเนื้องานและเรื่องส่วนตัวไปให้ข้อมูลนุชกับหมอ”
Pepperoni : “คุณกินยาอยู่นานแค่ไหน ?”
ชญาดา : “ในช่วงที่ ธ.ก.ส. จัดการให้นุชได้เจอหมอทั้งสามครั้งนี้ หมอได้จ่ายยาให้นุช ครั้งแรกเจ้าหน้าที่ธนาคารที่มาประกบนุชคะยั้นคะยอให้นุชกินยาต่อหน้าเขาตอนกินข้าวเที่ยงด้วยกัน ส่วนผู้บริหารก็คอยกำชับผ่านเจ้าหน้าที่ธนาคารให้ดูว่านุชกินยาหรือยัง พอมากูเกิ้ลทีหลังนุชถึงได้รู้ว่ายาที่เรากินเข้าไปเป็นยาทางจิตเวชทั้งหมด และยานั้นทำให้เกิดผลข้างเคียงมีทั้งฤทธิ์กดประสาทและกล่อมประสาท พอครั้งที่สามหมอจ่ายยามาให้เราก็ไม่กินแล้ว วิ่งเต้นหาคนช่วยทันที กลุ่มแรกที่นุชนึกถึงคือ ธ.ก.ส. สาขาอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี สังกัดสุดท้ายก่อนเข้ามาอยู่สำนักงานใหญ่ นุชเดินทางกลับสุราษฎร์ฯ และเข้าไปคุยกับพี่ๆ ที่สาขาเรื่องนี้ เพื่อหาทางออก”
Pepperoni : “ในช่วงนั้น มีสักชั่วขณะหนึ่งบ้างไหมที่คุณเชื่อว่าตัวคุณป่วยจริงๆ ?”
ชญาดา : “การถูกพาไปพบจิตแพทย์ซ้ำๆ กระบวนการกดดันหว่านล้อมต่างๆ ที่ได้เจอ ยาทางจิตเวชที่หมอจ่ายมาและก่อให้เกิดผลข้างเคียง เมื่อรวมๆ กันแล้วทำให้นุชคิดว่าถ้าเป็นคนที่จิตใจไม่เข้มแข็งพออาจจะคล้อยตามว่าตัวเองป่วยจริงๆ ไปเลยก็ได้ แต่นุชเป็นคนเข้มแข็ง นุชไม่เชื่อ แต่ทั้งที่ไม่เชื่อ ช่วงนั้นนุชถึงกับนอนทั้งวัน เบลอ ทุกคนทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ปลอดภัย มีคนมาประกบตลอด จำได้ว่าช่วงนั้นนุชน้ำหนักลดลงไป 11 กิโลกรัม”
Ep. 3 สู่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา

Pepperoni :คุณแก้ไขสถานการณ์อย่างไรหลังจากนั้น ?
“พอถูกกดดันมากๆ นุชไปหาผู้บริหารฝ่ายกฎหมายของธนาคาร แล้วขอให้มีการตั้งกรรมการ 5 คนสำหรับสอบสวนเรื่องนี้ นุชร้องไห้ด้วย เขาก็ตกใจเราเป็นอะไร หลังจากนั้นเขาก็ปิดห้องคุยกับเราครึ่งวัน นุชมารู้ทีหลังว่าวันนั้นมีคำสั่งออกเลยค่ะ เป็นคำสั่งโยกนุชเข้าโครงการรักษาสุขภาพ ของฝ่ายนโยบายรัฐ โดยมีการออกคำสั่งให้ปฏิบัติงานที่พักอาศัยก่อน 5 วัน เขาบอกว่าเป็นการช่วย เพราะหวังดีกับเรา พูดให้เรายอมปฏิบัติงานที่บ้าน และซ่อนเร้นการโยกย้ายนุชเข้าโครงการรักษาสุขภาพ และต่อมามีหนังสือเชิญนุชเข้าโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (early retire) จริงๆ นุชอายุงานไม่สามารถเข้าโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดของธนาคารได้ แต่ทางผู้บริหารกลับบอกว่าอนุโลมให้นุชเป็นกรณีพิเศษได้ ซึ่งนุชปฏิเสธ และทำหนังสือชี้แจงประเด็นที่นุชตรวจพบในโครงการรับจำนำข้าวต่อฝ่ายกฎหมายและฝ่ายตรวจสอบทันที”
Pepperoni : “หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้นต่อไป ?”
ชญาดา : “ธนาคารมีความพยายามขอเอกสารในโครงการรับจำนำข้าวคืนจากนุชถึง 3 ครั้ง และทางธนาคารยืนยันว่าจะต้องส่งนุชไปตรวจอาการทางจิตเวช เขาบอกว่าคุณพูดไม่รู้เรื่อง โวยวายเที่ยวไปพบคนอื่น พูดเรื่องจำนำข้าวที่อุปโลกน์ขึ้นมา หลังจากนั้นทางธนาคารมีจดหมายส่งตัวนุชไปตรวจที่สถาบันจิตเวชสมเด็จเจ้าพระยา จดหมายฯ ฉบับนั้นผูกมัดนุชทีหลัง เพราะเขียนว่า ‘เนื่องจากนางสาวชญาดามีความประสงค์’ ตอนหลังธนาคารอ้างว่าไม่ได้ส่งนุชไปรับการประเมินทางจิตเวช แต่นุชไปเองเพราะมีคำว่า ‘ประสงค์’ ซึ่งจริงๆ นุชไม่ได้ประสงค์ แต่ในตอนนั้นสถานการณ์ทุกอย่างบีบให้นุชต้องนำผลตรวจทางจิตมายืนยันเพื่อขอออกจากโครงการรักษาสุขภาพ การให้หมอพิสูจน์จึงเป็นวิธีเดียวที่นุชจะออกจากโครงการรักษาสุขภาพได้ เป็นวิธีเดียวที่นุชจะพิสูจน์ตัวเองได้ว่าไม่ได้ป่วย”
Pepperoni : “ทำไมคุณถึงกล้าเข้าไปพิสูจน์ตัวเองในโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาและไม่กลัวผลที่จะตามมา เช่นหลักฐานทางการแพทย์ที่อาจมัดตัวคุณแน่นขึ้น ?”
ชญาดา : “ด้วยความที่นุชจบนิติศาสตร์ มั่นใจว่ามีความรู้ทางกฎหมาย ไม่มีใครทำอะไรที่ไม่ถูกต้องกับนุชได้ และนุชใช้ชีวิตตามปกติ เป็นคนร่าเริง ชอบเข้าสังคม นุชเป็นคนชอบ D.I.Y มีเว็บบล็อกด้าน D.I.Y ของตัวเองที่เขียนตั้งแต่ปี 2553 ชื่อ ‘Nilly Nuch’ นุชเขียนเพจ เขียนบล็อก มีชื่อเสียงอยู่ในโซเชียลมีเดีย สื่อสารกับคนเยอะๆ มาตลอด ทำให้เรารู้สึกว่าสังคมต้องไม่เชื่อแน่เลยว่าเราบ้า เมื่อทางธนาคารบอกว่าจะส่งนุชไป นุชเองมั่นใจว่ายังไงเราก็พิสูจน์ตัวเองได้”
Pepperoni : “วันที่ไปโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาเป็นอย่างไร ?”
ชญาดา : “พอไปปะปนกับผู้ป่วยทางจิตเวชจริงๆ นุชร้องไห้ออกมาเลย คือคนเราแค่เครียด จะไปโรงพยาบาลอะไรก็ได้ คุณหมอจิตเวชมีทุกโรงพยาบาล เรารู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องเป็นสมเด็จเจ้าพระยา สมเด็จเจ้าพระยาคือมัดกันมาแล้ว วันนั้นเราบอกพ่อแม่ไว้ว่า ไม่ต้องห่วงนุช พ่อเป็นทหารผ่านศึก พ่อเล่าให้นุชฟังบ่อยๆ เรื่องไปรบและสอนให้นุชสู้ชีวิตมาตลอด นุชเองเป็นคนดึงใจเร็ว ไม่จมกับความเศร้านาน แต่พอไปถึงโรงพยาบาลจริงๆ พอถูกญาติคนไข้คนอื่นถามมากๆ ว่านุชเป็นอะไร เห็นคนป่วยที่เยอะมากจนโรงพยาบาลแออัด บางทีต้องอุ้มกันมา มันก็ไม่ไหว นุชก็ร้องไห้ออกมาเลย ถึงเราจะเป็นคนร่าเริง แต่ความเครียดทุกอย่างก็ออกมาทางร่างกาย”
Pepperoni : “เหตุการณ์ตอนพบหมอเป็นอย่างไร ?”
ชญาดา : “นุชบอกหมอทุกอย่าง รวมทั้งสาเหตุความเครียดที่มาจากเรื่องจำนำข้าว หลังพบหมอไปสองครั้ง หมอบอกว่าจะรับเป็นนุชคนไข้กรณีศึกษา (case conference) คนไข้ยินดีไหม สิ่งที่ดีสำหรับการเป็นเคสคอนเฟอร์เร็นซ์ คือคำวินิจฉัยอาการของนุชจะไม่เป็นผลจากแพทย์แค่คนเดียว แต่จะมีทั้งทาง ผอ. โรงพยาบาล ทีมศาสตราจารย์ ผลตรวจออกมาเป็นมติที่ประชุมคณะแพทย์ทั้งหมด หมอจะมาคุยกับเราหลายคน ซึ่งนุชเข้าๆ ออกๆ เป็นเคสคอนเฟอร์เร็นซ์อยู่ 6 เดือนค่ะ”
Pepperoni : “ช่วงที่เป็นเคสคอนเฟอร์เร็นซ์เป็นอย่างไรบ้าง ?”
ชญาดา : “นุชบอกหมอหมดค่ะ ว่าเราเครียดอย่างไรบ้าง และความเครียดนั้นส่งผลออกมาทางร่างกายอย่างไร ตอนกินยาทางจิตเวชเข้าไปโดยไม่รู้ว่าเป็นยาทางจิตเวชทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างไร พอทีมหมอที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยารู้ว่านุชเคยได้รับยาอะไร เขาตกใจเลย
“นุชอ่อนแออย่างไร นุชไม่ปกปิดหมอ บางคนเขากลัวไม่กล้าบอก เดี๋ยวหมอจะคิดว่าเราเราป่วยจริง นุชบอกหมอว่าอย่ามองนุชในสิ่งที่ทุกคนเห็นตอนนี้ นุชในตอนที่หมอเห็นอาจเหนื่อย กังวล เครียด กลัว นั่นเป็นเพราะสิ่งที่เราได้รับมาก่อนหน้านี้ นุชอยากให้หมอช่วยเราให้เราได้กลับไปเป็นคนเดิม”
Pepperoni : “ผลการวินิจฉัยหลังเป็นเคสคอนเฟอร์เร็นซ์เป็นอย่างไร ?”
ชญาดา : “วันบอกผล ความรู้สึกเหมือนในศาล นุชกลัวมากว่าหมอจะให้อยู่โรงพยาบาล กลัวเขาจะบอกว่าเราเป็นบ้า เป็นวันที่จะต้องไปรับฟังว่าต่อไปจะเจออะไร เป็นวันตัดสินชะตา คุณเป็นหรือไม่เป็น คุณป่วยหรือไม่ป่วย คุณต้องรักษาแบบไหน ที่ตรวจมาทั้งหมดจะมาสรุปกันวันนี้ ผลออกมาคือปกติ ไม่ป่วย ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชสมเด็จเจ้าพระยาให้กำลังใจนุช เขาบอกว่าผมไม่อยากให้คุณท้อ ผลวันนี้คือคุณไม่ต้องกินยา และต่อไปคุณก็ไม่ต้องกิน หนึ่งในทีมแพทย์ที่ดูเคสนุชบอกว่าอย่าไปหลงกลนะ ผมเห็นแล้วว่าเขากำลังบีบให้คุณป่วยขึ้นมาจริงๆ คุณมีสิทธิ์ที่จะเป็นแบบนี้ๆ ผมน่ะเห็นมาเยอะ และเตือนให้นุชระวัง ทุกคนที่สถาบันจิตเวชสมเด็จเจ้าพระยาดีหมด เขาให้เราเล่าว่าสิ่งที่ฉุดให้เรามาที่นี่ทั้งที่เราไม่ได้ป่วยคืออะไร
“แพทย์สรุปว่านุชปกติ เราแค่วิตกกังวลแต่ไม่ต้องรับยาจิตเวช กลับบ้านได้ โรงพยาบาลทำจดหมายถึงธนาคาร ขอคนจากธนาคารมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวนุช เพื่อเป็นการปิดเคสด้วยการรับฟังข้อมูลสองฝ่าย แต่ธนาคารส่งคนที่ไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับนุชเลยทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องงานมาให้ข้อมูลอีกเหมือนเดิมจนกระทั่งผลการวินิจฉัยออกมาว่านุช ‘มีภาวะเครียด วิตกกังวลจากการทำงาน ประกอบกับลักษณะบุคลิกบางประการ จึงส่งผลต่อการแสดงออกด้านอารมณ์และพฤติกรรมในที่ทำงาน’
“นุชเห็นว่าการที่ธนาคารส่งคนที่ไม่เคยเกี่ยวข้องกับนุชมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวนุช และจะกลายเป็นผลแพทย์ที่จะติดตัวตัวนุชไปตลอดนั้นไม่เป็นธรรม และความเครียดต่างๆ ก็เกิดจากการที่นุชพบความผิดปกติในโครงการรับจำนำข้าว จึงขอให้ธนาคารส่งพนักงานที่เคยร่วมงานกับนุชมาตั้งแต่ก่อนนุชย้ายมาดูเรื่องจำนำข้าวเข้าให้ข้อมูลกับคณะแพทย์ด้วย เพื่อเป็นการยืนยันว่าก่อนหน้านั้นนุชมีพฤติกรรมและบุคลิกอย่างไร แต่ทางธนาคารปเสธ ในช่วง 6 เดือน นุชได้ยื่นจดหมายถึงธนาคารแทบทุกเดือนขอให้ธนาคารส่งคนมาให้ความเห็นต่อแพทย์รวมแล้ว 4-5 ฉบับ แต่ธนาคารก็ไม่ส่งใครมา”
Ep. 4 เรื่องนี้เคยเกือบ ‘จบเงียบ’ มาแล้วหลายครั้ง

Pepperoni : “ชีวิตคุณเป็นอย่างไรหลังผลแพทย์จากสถาบันจิตเวชสมเด็จเจ้าพระยาออกมาแล้ว?”
ชญาดา : “ธนาคารยังไม่คืนตำแหน่งเดิมให้นุช และเก็บผลแพทย์ที่สถาบันจิตเวชสมเด็จเจ้าพระยาไว้ สิ่งที่นุชทำคือนุชกลับเข้ามานั่งทำงานที่ ธ.ก.ส ทั้งที่เขาไม่ให้งานทำ ระยะแรกๆ นุชไปนั่งอ่านหนังสือ เพราะเราเป็นสำนักงานใหญ่ มีห้องสมุด ฟิตเนส ห้องพระ ห้องพยาบาล ห้องฉายหนัง นุชก็ไปนั่งตามที่ต่างๆ ถ้าช่วงไหนถูกเรียกไกล่เกลี่ยยุติเรื่อง แล้วไม่ไหวจริงๆ ก็จะไปนั่งในห้องน้ำคนพิการซึ่งค่อนข้างกว้าง อยู่กับตัวเองในนั้น สงบสติอารมณ์”
Pepperoni : “พิจารณาชอยส์ลาออกไหม?”
ชญาดา : “พิจารณาทุกวัน แต่คนที่ ธ.ก.ส. ไม่ได้เลวร้ายทุกคน หลายคนเป็นมิตรกับนุชมาก นุชทำงานที่นี่ตั้งแต่อายุ 24 ปี ตอนนี้นุชซี 7 และถ้าสอบซี 8 นุชมั่นใจว่านุชสอบได้ แรกๆ ที่กลับเข้าไป คนจะดูว่าเราได้อภิสิทธิ์ ทำไมให้เรามาอยู่เฉยๆ ได้เงินเดือน กินแรงคนอื่น บางคนมองว่านุชหัวแข็ง บางคนฟังข่าวลือมาว่านุชมีปัญหาทางจิต สักพักนุชเอาจักรเย็บผ้าไปเย็บผ้าที่ทำงาน แล้วประกาศว่าใครจะซ่อมแซมเสื้อผ้าอะไรมาที่นุช นุชไม่คิดค่าใช้จ่าย มีคนเอาเสื้อผ้ามาให้นุชเย็บทุกวัน แล้วก็นั่งทำงาน D.I.Y ที่เราชอบทำมานานแล้ว
Pepperoni : “หลังเอางาน D.I.Y ไป เพื่อนร่วมงานมองคุณอย่างไรบ้าง ?”
ชญาดา : สถานการณ์เปลี่ยนเลยค่ะ มีคนมาถามเราว่าจริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้น เกิดความเข้าใจเรามากขึ้นแบบปากต่อปาก ต่อมาธนาคารให้นุชไปทำงานประชาสัมพันธ์ธนาคาร แต่งานที่เขาให้นุชทำคือให้หาข่าวประชาสัมพันธ์สามข่าวต่อหนึ่งสัปดาห์ การหาข่าวคือหาจากกูเกิ้ล เอามาเขียนสรุป ใส่รูปประกอบ แต่นุชอยากเติบโตในสายงานทางด้านกฎหมายที่นุชเรียนมา จึงพยายามขอตำแหน่งที่ใช้ความสามารถของวิชาชีพด้านกฎหมายคืน แต่ธนาคารไม่ให้นุชทำงานทางด้านกฎหมายอีก
“หนึ่งปีที่นุชไม่ได้ไปปรากฏตัวที่ธนาคารคือช่วงเวลาที่เราเสียไป เราไม่ได้พัฒนาตัวเองไปหนึ่งปีเราก็เครียดแล้ว สุดท้ายนุชจึงตัดสินใจฟ้องหมิ่นประมาทผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ธนาคารที่ทำให้นุชถูกมองว่ามีปัญหาทางจิต หลังจากนั้นการไกล่เกลี่ยมาจากทุกทิศทุกทาง นุชถูกเรียกคุยประมาณสิบกว่าครั้ง เรียกมาถามว่า ‘นุช ตัดสินใจหรือยัง เอายังไง เอาอย่างนี้มั้ย ฯลฯ’ เพื่อขอนุชให้ยุติทางศาล”
Pepperoni : “ผลจากการฟ้องเป็นอย่างไร ?”
ชญาดา : “มีคลื่นใต้น้ำขอให้ถอนฟ้อง แต่นุชไม่ถอนฟ้องค่ะ เรามีหลักฐานว่าเขาให้เรากินยาทางจิตเวชทั้งๆ ที่เราไม่เคยป่วยตามที่เขากล่าวอ้าง ประวัติการจ่ายยามีอยู่แล้ว สู้จนขึ้นศาลครั้งที่สาม ซึ่งถ้าขึ้นศาลอีกครั้งแล้วเขาไม่ยอม ศาลต้องลงดาบแล้ว ซึ่งเขาแพ้แน่ คดีนี้ส่งผลต่ออนาคตเราอย่างมาก เขามีสิทธิ์ได้รับโทษโดยไม่รอลงอาญา แล้วใครต้องโทษทางอาญาจะรับราชการไม่ได้ ต้องถูกธนาคารไล่ออก คดีนี้จบที่การไกล่เกลี่ย เขาชดใช้เงินให้นุชหลักแสนและลงประกาศขอโทษในแบนเนอร์เฟซบุ๊ก 7 วัน
“การฟ้องหมิ่นประมาทในนามบุคคลจบไป พอเดือนเมษายนปี 2561 ซึ่งเป็นฤดูกาลโยกย้ายตำแหน่ง นุชคิดว่าได้ตำแหน่งคืนแน่ เพราะทุกอย่างสมบูรณ์แล้ว คณะแพทย์สถาบันจิตเวชสมเด็จเจ้าพระยาบอกว่าเราไม่ป่วย แล้วเราก็ชนะคดีด้วย แม้จะจบด้วยการไกล่เกลี่ย ไม่ได้เอาเรื่องถึงที่สุด แต่ธนาคารยังไม่คืนตำแหน่งให้ นุชจึงไปร้อง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร ว่าธนาคารปกปิดผลแพทย์นุช และการร้อง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร เรื่องนุชเข้าสองคณะ คือคณะปกติกับคณะเฉพาะซึ่งเป็นคณะกรรมการเรื่องทางการแพทย์ ทางคณะกรรมการฯ วินิจฉัยว่าธนาคารปกปิดผลแพทย์เราไม่ได้ ถึงแม้ธนาคารอ้างว่าเป็นเอกสารที่โรงพยาบาลส่งให้เขา แต่กฎหมายบอกไว้ว่าถ้าเรามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง เราต้องมีสิทธิ์รับทราบ
“หลังจากนั้นสำนักข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ทำบทความเผยแพร่ ชื่อ ‘หนูเป็นปกตินะคะ’ เอาสิ่งที่คณะกรรมการ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารสรุปมาทำเป็นบทความเผยแพร่ ซึ่งก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นแรกที่ทำให้สังคมได้รู้ว่ามีความผิดปกติในโครงการรับจำนำข้าว ต้องให้เกียรติสำนักนายกฯ เลย บทความนี้นอกจากถูกเผยแพร่ออกไปทางโลกโซเชียลแล้ว หน่วยงานรัฐทุกหน่วยงานยังเอาไปแชร์ต่อ ทั้งกรมทางหลวง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง ทุกกระทรวงเลยค่ะ
“ในบทความจะใช้นามสมมติชื่อนุชว่านางสาวเปรี้ยว ทุกหน่วยงานรัฐจะเอาไปแชร์ลงเว็บของหน่วยงาน ถ้าไม่แชร์ก็จะเวียนในหน่วยงาน เป็นระบบการแจ้งข่าวสารของหน่วยงานราชการ บทความนี้เพิ่งออกมาเมื่อมกราคม 2561 ถือว่าหน่วยงานรัฐสนับสนุนคำพูดเรา ทั้งสำนักนายกรัฐมนตรี และสถาบันจิตเวชสมเด็จเจ้าพระยา จนเริ่มมีคนตามหาเปรี้ยวเพื่อขอข้อมูลกันยกใหญ่ กลายเป็นว่าเราต้องปิดไลน์ ปิดเฟซบุ๊กทุกอย่างเพราะคนตามหาเราเยอะขึ้น”
Pepperoni: “หลังจากบทความ ‘หนูเป็นปกตินะคะ’ เผยแพร่ออกไป ธ.ก.ส. มีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง ?”
ชญาดา : “มีผู้บริหารมาไกล่เกลี่ยกับเราเต็มไปหมด เราก็เกรงใจ ผู้บริหารฝ่ายกฎหมายถามนุชว่าถอยสักก้าวไหม ผู้บริหารหลายคนบอกให้นุชปล่อยวาง บางครั้งมาเป็นทีม เอาทุกคนที่เรานับถือและเกรงใจมานั่งกล่อมเรา ผู้บริหารบอกว่าจบนะนุชนะ เราก็ตอบแต่ค่ะๆ เพราะเราก็เหนื่อยมากแล้ว
“ตอนนั้นนุชเลยตัดสินใจให้เรื่องจบในองค์กร ตกลงกับผู้บริหารว่าจะบอกกับสังคมว่าทั้งหมดเป็นความเข้าใจผิด แต่ขอให้เราได้กลับไปทำงานตำแหน่งของสายงานนิติศาสตร์เหมือนเดิม ตอนนั้นนุชขอไปสำนักปราบปรามทุจริต และขอให้คนทำผิดถูกลงโทษ”
Pepperoni : “ก็ดูเป็นดีลที่น่าสนใจ”
ชญาดา : “ก็ดูวินๆ ทั้ง 2 ฝ่าย ทุกคนสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ ไม่ต้องมีใครเจ็บปวดอะไรอีก แต่สุดท้ายเขา ขอให้นุชจบเงียบ ไม่ให้ทำงานในสายงานนิติศาสตร์ที่สำนักงานใหญ่ ผู้บริหารคนหนึ่งบอกว่าคุณเชื่อผม คุณอย่าไปเชื่อใคร กลับไปทำงานสุราษฎร์ฯ อยู่บ้านสัก 2-3 ปี แล้วเดี๋ยวค่อยมาว่ากันใหม่ หลายคนในธนาคารเครียดเพราะนุช ถ้าเรายอมทุกคนรอดหมด ถ้าเราไม่ยอมทุกคนอาจลำบาก”
Pepperoni : “คุณคิดว่าเพราะอะไรทางธนาคารถึงไม่ยอมรับดีลของคุณ ?”
ชญาดา : “นุชคิดว่าจุดแย่ที่สุดในชีวิตก็คือ นุชเอาข้อมูลความผิดปกติที่นุชพบทั้งหมดให้ผู้บริหารระดับสูงบางท่านดู โดยติดต่อท่านผ่านทางเฟซบุ๊ก ทุกวันนี้ผิดหวังกับท่านมาก ท่านอ่านแล้วบล็อกเลย นุชคิดว่าหลังจากนั้นเหมือนเราได้สร้างความหวาดระแวงให้ผู้บริหารระดับสูงโดยไม่รู้ตัว เกินกว่าที่เขาจะยอมให้เราอยู่ในองค์กรได้แล้ว
Ep. 5 จากพรรคเพื่อไทยถึงเจี๊ยบเลียบด่วน ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังชญาดา ?

Pepperoni : “เท่าที่ฟังมาทั้งหมดเรื่องยังไม่ไปถึงสื่อและสังคมวงกว้าง คุณเริ่มเปิดเผยเรื่องนี้ต่อสังคมตั้งแต่เมื่อไหร่”
ชญาดา : “หลังจากผ่านเหตุการณ์ทั้งหมดมา นุชยังไว้ใจทาง ธ.ก.ส. อยู่ และยังหวังที่จะกลับไป นุชไปขอความเมตตาจากผู้จัดการใหญ่ว่าขอพบ เพราะเราเริ่มสับสนแล้ว แต่ท่านติดภารกิจตลอด นุชเลยโพสต์เฟซบุ๊กระบายความในใจเป็นจดหมายเปิดผนึก ถึงเงิน 1 ล้านบาทที่ผิดปกติ เพราะไม่มีทางที่จะคุ้มครองตัวเอง ไม่มีช่อง และโพสต์เรื่องราวทั้งหมดในพันทิป
“อีกด้านหนึ่งคนอ่านบทความ ‘หนูเป็นปกตินะคะ’ แล้วตามหาเปรี้ยว นุชเริ่มรู้สึกว่าเราถูกคุกคาม การคุกคามนี้ไม่ใช่การมาขู่ทำร้าย แต่สนใจอยากมาคุย อยากได้ข้อมูล อยากให้ความช่วยเหลือ ทำให้เรากลัว ไม่ต้องการพูดเรื่องนี้กับใคร
“เราไม่รู้ใครเป็นใคร เราเป็นผู้หญิงด้วย เราเคยถูกทำร้าย เคยโดนรังแกมาเยอะ มีคนอ้างตัวว่าเป็นอดีต สส. บ้าง อดีต สว. บ้าง เป็นนักวิชาการทำวิทยานิพนธ์เรื่องจำนำข้าวบ้างติดต่อมาเต็มไปหมด เราไม่ต้องการให้ใครมาหาตัวเรา ไม่ต้องการให้เดินๆ อยู่แล้วมีคนมาถามว่าใช่นุชมั้ย นุชอยากได้ความปลอดภัย
“คนมาชวนนุชเข้าพรรคแทบทุกพรรค ซึ่งนุชปัดออก นุชบอกว่านุชอยากพบ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เรารู้จักท่านจากรายการข่าวดังข้ามเวลา และติดต่อ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ไป ตอนนั้นสาบานเลยไม่รู้ใครได้ประโยชน์เสียประโยชน์ ที่ผ่านมานุชไม่เคยยุ่งเกี่ยวการเมืองด้วย คนแรกที่คิดถึงคือหมอวรงค์ เพราะ ช่วงที่นุชถูกพักงานกลายเป็นเคสคอนเฟอเร็นซ์ก็ศึกษาเรื่องราว”
Pepperoni : “หมายความคุณเพิ่งมารู้เอาตอนนั้น ว่าใครมีส่วนได้เสียกับสิ่งที่คุณค้นพบ ?”
ชญาดา : “ใช่ค่ะ กูเกิ้ลอย่างเดียวเลยค่ะ เจอคลิปการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล คุณหมอวรงค์ก็เอาถุงข้าวมาแทง รองนายกฯ ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อบอกคุณไปขโมยข้าวเขามาได้ยังไง ซึ่งในความเห็นนุช การกระทำของหมอวรงค์อย่างนี้ไม่ผิดเลย เขาต้องแอบเอามาอยู่แล้ว จะไปขอมาได้ยังไง
“นุชคิดอยู่ในใจว่าไอ้ณัฐวุฒินี่มันเหี้ยจริงๆ เราเห็นอย่างนี้เราก็โน้มเอียงไปทางประชาธิปัตย์ว่า เฮ้ย! ฮีโร่จำนำข้าว เราต้องไปหาหมอวรงค์ นุชส่งข้อมูลหาหมอวรงค์ทางเฟซบุ๊ก และยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมกับ พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงห์แก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นึกอะไรออกก็ไป พรรคประชาธิปัตย์นี่นุชติดต่อเป็นกลุ่มแรก แต่ทุกคนเงียบกันหมด กลายเป็นคนที่เราไม่ได้เข้าหาติดต่อกูมาจังเลย” (หัวเราะ)
Pepperoni : “ถึงทุกวันนี้คุณมีความเข้าใจโครงการรับจำนำข้าวมากแค่ไหนและรู้หรือไม่ว่าสิ่งที่คุณค้นพบจะส่งผลทางการเมืองอย่างไร ?”
ชญาดา : “ตอนแรกๆ นุชไม่รู้จริงๆ ค่ะว่าใครเป็นใคร”
Pepperoni : “คุณพิจารณาข้อเสนอของพรรคต่างๆ บ้างไหม ?”
ชญาดา : “นุชปฏิเสธทุกพรรค นุชไม่อยากเอาหัวสมองไปคิดเรื่องหาเสียง ไม่อยากอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง ความสุขของเราคือการได้เย็บผ้า พรรคไหนจะเอานุชไปลงสมัคร ส.ส. นุชบอกนุชขอพิสูจน์ความจริงในสิ่งที่นุชกล่าวก็พอ
Pepperoni : “จุดยืนในการต่อสู้ตอนนี้คืออะไร ?”
ชญาดา : “พิสูจน์ความจริงอย่างเดียว”
Pepperoni : “คุณยังต้องการตำแหน่งในธนาคารอย่างเดิมไหม ?”
ชญาดา : “นุชถูกเลิกจ้าง ก็คือไม่มีงานทำ ถ้ากลับธนาคารอีกแล้วอยู่ไม่ได้ ต้องลาออกก็ไม่มีงานทำค่าเท่ากัน เราอย่าไปคิดว่ากลับไปแล้วเดี๋ยวอยู่ไม่ได้ เดี๋ยวถูกกดดัน อย่าไปคาดการเอาเอง ในความคิดนุช กลับไปก่อน ถ้าเขาเป็นอย่างนั้นจริงๆ เราค่อยออก นุชจะแสดงพลังให้ ธ.ก.ส. เห็น จุดประสงค์คือคนดีต้องอยู่ได้ คนโกงต่างหากต้องออกจากองค์กร”
Pepperoni : “ธ.ก.ส. มีหนังสือชี้แจงเหตุผลที่เลิกจ้างคุณเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 กล่าวโดยย่นย่อคือ ‘มีพฤติกรรมจงใจ ฝ่าฝืนข้อห้ามหรือคำสั่งของธนาคาร เขียนข้อความในลักษณะที่ไม่เหมาะสมด้วยการตำหนิ ดูหมิ่น ผู้บังคับบัญชาพนักงาน ผู้อื่น และธนาคาร รวมถึงนำเอกสารข้อมูลของธนาคารที่ไม่ควรเผยแพร่ ข้อมูลที่ใช้สื่อสารภายในธนาคารโดยเฉพาะ หรือข้อมูลอื่นใดที่จะก่อให้เกิดข้อสงสัยหรือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับธนาคารเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้มีบุคคลอื่นมาแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่ทำให้ธนาคารเสื่อมเสียชื่อเสียง แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ละทิ้งงานในหน้าที่ และไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย จึงเป็นเหตุอันสมควรที่ไม่อาจไว้วางใจ ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้’ คุณจะตอบเหตุผลของการเลิกจ้างนี้อย่างไร?”
ชญาดา : “เขาอ้างว่าเราไม่มีสิทธิ์เอาข้อมูลจำนำข้าวออกมา เป็นข้อมูลที่เราไม่ได้รับมอบหมาย ซึ่งนุชไม่กลัวเลย เพราะเดิมเราได้รับมอบหมายและการเปิดเผยครั้งนี้เป็นประโยชน์สาธารณะ และอีกข้อหาคือฝ่าฝืนคำสั่งธนาคารซึ่งมีคำสั่งห้ามเผยแพร่ข้อมูลเรื่องจำนำข้าว แต่เรายังกระทำซ้ำ ซึ่งนุชคิดว่าธนาคารมีหน้าที่พิสูจน์ว่าสิ่งที่เราพูดเป็นความจริงหรือเปล่า ไม่ใช่มาลงโทษเราแต่ไม่ชี้แจงหลักฐานค่ะ”
Pepperoni : “เพราะอะไรคุณถึงยังอยากกลับไปทำงาน ธกส. หลังจากเจอเรื่องราวมากมายขนาดนี้ ?”
ชญาดา : “จริงๆ คน ธ.ก.ส. ไม่ใช่คนเลวร้ายนะคะ แต่อาจเป็นเพราะเรื่องนี้มันใหญ่ไป พอเราปูดขึ้นมา คนเราถึงจุดลำบากใจก็ต้องเลือก หมาวิ่งตัดหน้ารถก็ต้องเลือกชนหมา เบรกไม่ได้ ลูกเมีย หน้าที่การงานตัวเองก็สำคัญ พนักงาน ธ.ก.ส. หลายคนมองว่านุชรักษาสิทธิ และความผิดนี้เกิดขึ้นจากผู้บริหารปล่อยให้นุชต่อสู้คนเดียว ตัวนุชเองผูกพันกับ ธ.ก.ส. มาตั้งแต่อายุ 18-19 ปี ด้วยซ้ำ ตอนนั้นนุชมีแฟน พ่อของแฟนเก่านุชเป็นพนักงานเก่าแก่ของ ธ.ก.ส. ถ่ายทอดเรื่องดีๆ ของ ธ.ก.ส ให้นุชเห็น เป็นคนให้โลกทัศน์ทางการทำงานกับนุช
“จริงๆ ถ้าเขาไม่บอกว่านุชบ้า เรื่องจะไม่ลุกลามบานปลายมาถึงขนาดนี้เลย ลดคุณค่าทางสังคมไม่พอ ตัดอนาคตเรา ทุกคนที่ใกล้ชิดนุชพูดเหมือนกันหมดว่านุชอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกกดดันให้เราผูกคอตาย นุชเป็นคนมีความมั่นใจในตัวเอง เป็นคนชอบเข้าสังคม แต่ทุกวันนี้เราหลบหลีกที่ที่มีคนเยอะๆ ซึ่งเราไม่อยากเป็นคนแบบนั้น สิ่งที่เราขอคือปล่อยเราไป เรามีความหวังที่เราจะได้กลับไปปฏิบัติงานตามภารกิจหลักของธนาคาร เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่วันนี้ผลของการต่อสู้พิสูจน์ความจริง ผลของการพิสูจน์ว่าเราทำตามระเบียบธนาคาร มันทำให้เราตกงานเลย”
Pepperoni : “เคยคิดไหมว่าถ้าตัวเองไม่ได้กลับไปทำงาน ธ.ก.ส. จริงๆ จะเป็นยังไง ?”
ชญาดา : “คิดตลอด บอกตัวเองทุกวัน สามปีนี้นุชเก็บเงินตลอด เย็บผ้าขาย เย็บชุดแมว เย็บที่เก็บบัตรพนักงาน ทำเคสมือถือขาย ในรถมีแต่ผ้า ยายของนุชเย็บผ้าเก่งและให้วิชามา เครื่องแบบ ธ.ก.ส. นุชก็ตัดเย็บเอง หลายคนชักจูงให้นุชไปเล่นการเมือง แต่นุชอยากกลับมาเป็นตัวเราคนเดิมที่เย็บผ้า พูดเรื่องความสวยความงาม เป็นเจ้าแม่ D.I.Y. สอนแต่งหน้า ถ่ายคลิปทำกับข้าวลงยูทูป เป็นพรีเซนเตอร์เสื้อผ้าที่เราเย็บเอง อย่างนี้มันไม่เครียด
Pepperoni : “ตอนถูกกดดันมากๆ คุณผ่านมาได้อย่างไร ?”
ชญาดา : “ถ้าผู้บริหารถามว่าใครหนุนนุชอยู่ นุชก็บอกเจี๊ยบ (หัวเราะ)”
Pepperoni : “เจี๊ยบไหน?”
ชญาดา : “เจี๊ยบเลียบด่วนค่ะ (หัวเราะ) แต่จริงๆ แล้วเจี๊ยบไม่ช่วยอะไรเลย นุชแชทเล่าเรื่องนี้ให้เจี๊ยบฟังตั้งแต่เกิดเรื่องแรกๆ เผื่อเจี๊ยบจะเอาไปเป็นข่าว หรือเชียร์ ธ.ก.ส. ก็ยังดี เพราะเจี๊ยบเชียร์ใครคนนั้นก็แพ้ เชียร์บอลก็แพ้ นี่ก็เห็นเจี๊ยบเชียร์ครูปรีชา ล้อเล่นค่ะ จริงๆ แล้ว นุชอยากให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ นุชคิดว่าคนสนใจเรื่องนี้คือคนที่คร่ำหวอดการเมือง จริงๆ แล้วเพจทุกเพจ Drama Addict อีจัน แหม่มโพธิ์ดำ นักข่าวดังๆฯลฯ นุชขอความช่วยเหลือไปหมด”
Pepperoni : “จากนี้คุณตั้งใจจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ?”
ชญาดา : “นุชกำลังรออุทธรณ์ค่ะ นุชฟ้องรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนโยบายรัฐ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ และผู้ช่วยผู้จัดการธนาคาร ในข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง แต่เมื่อ 30 พฤษภาคม 2561 ศาลชั้นต้นยกฟ้องโดยไม่ไต่สวน เรียกได้ว่าไม่เปิดโอกาสให้กางหลักฐานใดๆ ทั้งสิ้น นุชก็หวังว่าการยื่นอุทธรณ์ครั้งนี้ ศาลอุทธรณ์จะเมตตากลับคำพิพากษา และให้โอกาสนุชได้ต่อสู้ในศาลและได้สืบพยานค่ะ
“ข้อมูลความผิดปกติที่นุชพบและบอกไปในตอนต้นก็อยู่ในสำนวนฟ้องหมดแล้ว ทุกสิ่งที่นุชพูด ทุกคนที่เกี่ยวข้องมีสิทธิ์โต้แย้งนุชในศาล แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือการรับฟ้องแล้วไม่ใช่หลักประกันว่าศาลจะไต่สวน เพราะศาลอุทธรณ์อาจยกฟ้องโดยไม่ไต่สวนเลยเหมือนศาลชั้นต้นก็ได้ จากนี้ต้องคอยลุ้นว่าศาลอุทธรณ์จะสั่งไต่สวนหรือไม่ อยากขอให้ศาลเปิดโอกาสให้เราได้พูด ได้แสดงหลักฐาน และเข้าสู่กระบวนการทางศาลบ้างค่ะ”
หมายเหตุ : เมื่อ 6 มีนาคม 2562 เวลา 10.00 น. ศาลศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์กรณี งสาวชญาดา ตระกูลรุ่งโรจน์ อดีตพนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ฟ้องดำเนินคดี นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (อดีตผู้จัดการ ธ.ก.ส.) จำเลยที่ 1 และผู้บริหาร ธ.ก.ส. กรณีความผิดปกติทางบัญชีในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้องโดยที่ยังไม่มีการไตร่สวนพยาน น.ส.ชญาดาจึงได้ยื่นอุทธรณ์ขอความเป็นธรรมเพื่อขอโอกาสได้พิสูจน์ข้อเท็จจริง โดยศาลมีคำสั่งกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ชี้คดีมีมูลและให้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง