*คอนเท็นต์ที่มีสัญลักษณ์ Detectteam Archive คือคอนเท็นต์ที่โยกย้ายมาจาก www.detectteam.com ซึ่งยุติการทำงานแล้ว และกองบรรณาธิการหลักของ Detectteam ได้ย้ายพื้นที่มาสร้างสรรค์เนื้อหากับ Pepperoni News ต่อไป

เรื่องและภาพ: ชลธร วงศ์รัศมี

เผยแพร่ครั้งแรก: 7 กันยายน 2560

หากใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง Bridget Jones’ Diary คงไม่ลืมภาพของมาร์กซ์ ดาร์ซี พระเอกสุดเท่ และคงจำได้ว่าอาชีพของมาร์กซ์คือทนายสิทธิมนุษยชนผู้เดินทางไปทำคดีรอบโลก มาร์กซ์ทำเงินได้มาก ฉลาดปราดเปรื่องตลอดเวลา มาดขรึมเนี๊ยบเก๋ไก๋ไฮโซ ส่งผลให้ทนายสิทธิฯ คนนี้เป็นชายในฝันของผู้หญิงหลายๆ คน

หันมามองดูทนายสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยกันบ้าง “อานนท์ นำภา” คือทนายสิทธิมนุษยชนคนแรกๆ ที่ผู้คนนึกถึงเมื่อพูดถึงอาชีพนี้ ในวัย 33 ปีหยกๆ อานนท์ยังโสด แต่เขาจะเข้าขั้นเป็นหนุ่มในฝันของสาวๆ หรือไม่ ลองไปทำความรู้จักเขาดู

อานนท์ผู้เข้าใจประชาชน

“ผมเป็นคนร้อยเอ็ด ที่บ้านทำนา เป็นเกษตรกรโดยกำเนิด พ่อทำนา น้าขับแท็กซี่ ผมมีโอกาสได้เรียนสูงกว่าเพื่อน ตอนจบกฎหมายผมอยากเป็นอาจารย์ด้วย สองจิตสองใจ  ปีที่เรียนจบจำได้ว่าเป็นปีที่มาไล่ทักษิณ คือปี 2549 วิชาสุดท้ายที่สอบคือนิติปรัชญา ผมวัดดวงว่าถ้าสอบผ่านวิชานี้ได้ G จะได้เกียรตินิยมอันดับสอง จะเรียนต่อโทแล้วเป็นอาจารย์ ถ้าไม่ได้แสดงว่าดวงลิขิตให้เป็นทนาย ปรากฏว่าได้แค่ P ผ่านเฉยๆ เห็นผลสอบปุ๊บผมโทรหาพี่สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ บอกว่าอยากเป็นทนายแล้วไปฝึกงานที่มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมของพี่สุรชัย ตรงงาม ทำคดีชาวบ้านมาตลอดตั้งแต่บัดนั้นมา เวลาชาวบ้านไปชุมนุม เรียกร้องเรื่องท่อก๊าซ โรงไฟฟ้า ทรัพยากรธรรมชาติ พอไปชุมนุมโดนตำรวจทหารตีหัว หรือฟ้องชุมนุมมั่วสุมจะเป็นคดีอาญา ต้องขึ้นศาลปกครองบ้าง ผมจะไปทำส่วนนั้น”

อาชีพของอานนท์

วันที่เรานัดสัมภาษณ์ อานนท์เพิ่งนั่งเรือด่วนเจ้าพระยาไปส่งลูกความที่ขึ้นศาลทหารแล้วเสร็จไปลงท่าน้ำนนท์ เพราะกรุงเทพฯ ยังใหม่ต่อลูกความของเขา ไปไหนมาไหนไม่ใคร่ถูก การช่วยเหลือลูกความด้วยอัธยาศัยไมตรีคืองานซึ่งเขาทำเป็นประจำนอกจากว่าความ จนลูกความพากันรักใคร่เอ็นดู

“ผมเป็นพวกสนุก ไม่ใช่คนถือตัว ทำคดีด้วย กินเหล้ากินยา กินส้มตำกันไปด้วย เลยดูสนิทกัน มิติของผมกับลูกความส่วนหนึ่งอาจจะต่างกับทนายคนอื่น คือผมทำเรื่องคดีด้วยแต่อีกส่วนหนึ่งเราระดมทุนเพื่อจะประกันตัวเขาด้วย เลยทำให้รู้สึกว่ามีความเชื่อมโยงกันเป็นพิเศษ  สนุกนะ คุณพาชาวบ้านไปส่งบ้าน ผมไปก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร นั่งไปนั่งกลับเฉยๆ สาวๆ เห็นในเฟซบุ๊กมาคลิกไลค์ๆ ขำๆ บางทีทหารมาดู เขาก็คงเห็นว่าผมน่าสงสาร อานนท์มันก็ไม่มีอะไรนี่หว่า”

ลูกความของอานนท์จะพิเศษอยู่หน่อยๆ ตรงที่มักเป็นคนยากจนโดยไม่ได้นัดหมาย หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม พ.ศ. 2553 มีประชาชนตกเป็นผู้ต้องหาค้างโรงค้างศาลมากมาย ทั้งคดีก่อการร้าย เผาสถานที่ราชการ ฯลฯ อานนท์ซึ่งอายุ 20 กว่าๆ ในตอนนั้นกล้าพอที่จะตั้ง “สำนักกฎหมายราษฎรประสงค์” ขึ้นมาเพื่อให้คำปรึกษาทางกฎหมายและทำคดีแก่ลูกความเหล่านี้ ต่อมาสำนักกฎหมายราษฎรประสงค์ปิดตัวลงตามสถานการณ์บ้านเมืองที่ดูเหมือนคลี่คลายแล้วใน พ.ศ. 2556 อานนท์ตั้งใจจะเป็นทนายความทั่วไปและเรียนต่อ ทว่าโชคชะตารั้งเขากลับมาหาชาวบ้านอีกครั้ง

“เมื่อเกิดรัฐประหารปี 2557 ขึ้นมา มีคนโดนจับเพราะต้านรัฐประหารเยอะ มีคนถูกเรียกรายงานตัวแล้วไม่ไป ก็คุยกันว่ามันจะต้องมีองค์กรหรือกลุ่มทนายขึ้นมาทำคดีพวกนี้นะ ตอนนั้นก็มีผม มีพี่เอ๋ (เยาวลักษณ์ อนุพันธ์) มีทนายจูน (ศิริกาญจน์ เจริญศิริ) ทนายแอน (ภาวิณี ชุมศรี) พี่ทอม (สุรชัย ตรงงาม) กับเพื่อนๆ และรุ่นพี่หลายคนคุยกัน ตกลงกันว่าตั้งเป็น “ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน” ขึ้นมา ไปตั้งกันที่มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมนั่นล่ะ ไปนอนด้วยกันเป็นสิบคน คุยกัน ตั้งขึ้นมา มีพี่เอ๋เป็นหัวหน้าศูนย์ มีทนายประจำ ส่วนผมเป็นฟรีแลนซ์รับคดีมาทำ  ศูนย์ทนายฯ เริ่มจากคนเล็กๆ ที่ทำงานเพื่อสังคมมาก่อนรวมตัวกัน หลังจากนั้นขยายใหญ่ขึ้น เริ่มมีทนายในพื้นที่”

ชายหนุ่มผู้มีกระแสเงินสดไหลเวียนนับล้าน

“บัญชี นายอานนท์ นำภา และ น.ส. ไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา และนายวีรนันท์ ฮวดศรี เลขที่ 006-8-98250-2 ธนาคารกสิกรไทย” คือเลขบัญชีธนาคารที่ผู้ติดตามเฟซบุ๊กของอานนท์คุ้นเคย เมื่อเห็นเขาโพสต์รูปหน้าสมุดจะรู้ได้ในทันทีว่ามีใครสักคนติดคุกเข้าแล้ว บัญชีธนาคารนี้มีไว้ระดมทุนแบบง่ายๆ จากประชาชนทั่วไปที่ต้องการช่วยเหลือให้นักโทษทางการเมืองได้สู้คดี

“ระดมทุนครั้งแรกคือระดมมาประกันตัวเอง ได้มาเกินเราก็เอาไปประกันคนอื่น เลยกลายเป็นปริยายไป หลายเคสที่ไม่มีเงินก็ประสานมาที่เรา เราก็หาให้ การช่วยอีกนัยยะหนึ่งคือการซัพพอร์ต เป็นการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร  วันที่ผมถูกจับจากการจัดกิจกรรม “เลือกตั้งที่ (ลัก) รัก” ระดมกันตั้งแต่สามทุ่มถึงเที่ยงของอีกวัน ได้ประมาณ 7-8 แสน ยอดของแต่ละคนไม่ได้มาก คนละร้อยสองร้อย พัน ห้าร้อย แต่มีคนโอนมาหลายพันคน ทำให้ทหารหรือคณะรัฐประหารเขาเห็นว่ามันมีมวลชนนี่หว่า มีคนเห็นด้วยกับเขาเยอะนี่หว่า มันก็เป็นแรง  ประกันออกมาได้หลายคดีครับ รวมๆ แล้วเราระดมทุนผ่านเฟซบุ๊กเพื่อช่วยเหลือคนสู้คดีในศาล น่าจะเป็นจำนวน 3-4 ล้านบาทได้แล้ว”

ถ้าเงินเหล่านี้เข้ากระเป๋าเขาเองอานนท์คงรวยพอดู ทว่าเงินสะพัดครั้งละหลักหมื่นหลักแสนนี้เข้าแล้วไหลออกไปสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างรวดเร็ว แต่บัญชีธนาคารนั้นก็เหมือนเป็นบัญชีวิเศษอยู่ดี แม้ยอดเงินเก่าจะแห้งขอด แต่เมื่อต้องการเพิ่ม ยอดเงินในบัญชีนั้นก็จะค่อยๆ ถูกเติมจากทุกทั่วสารทิศ จนช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองออกมาได้เกือบทุกครั้ง

ตัดทรัพย์สินของอานนท์จากสมุดบัญชีเล่มนั้นออกไป มาพิจารณาเงินทองจากการทำคดีให้ชาวบ้านกันบ้าง ปัจจุบันอานนท์เป็นทนายความอิสระ ว่าความให้ลูกความมากมายในคดีหลังรัฐประหาร ต่อต้านรัฐประหาร คดีชุมนุมหลังรัฐประหาร กับคดีเดิมของคนเสื้อแดงที่เกิดก่อนรัฐประหาร ฯลฯ เมื่อถามถึงอัตราค่าตอบแทนที่เขาเก็บจากการว่าความให้ชาวบ้าน อานนท์ตอบว่า

“ไม่เก็บ แล้วเราก็ไม่รับด้วย ถ้าทำคดีในนามศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ศูนย์ฯ จะมีเบี้ยเลี้ยงให้ เป็นค่าเดินทาง ค่าที่พัก มันก็ไม่เพียงพอหรอก เพราะเราไม่ได้รับเงินเดือน อย่างเพื่อนเขาเป็นทนายประจำ เขาก็รับเงินเดือนประจำ แต่เราก็ได้เป็นวันๆ วันนี้ขึ้นศาลได้สองพัน แต่เราก็ไม่ได้ขึ้นทุกวัน”

ใครจะมาเป็นสาวของเขาคงพอจะเห็นอนาคตความมั่นคงทางการเงินหากร่วมชีวิตกับ “ทนายน้อยๆ” (ฉายาที่อานนท์ใช้เรียกตัวเอง) รำไรแล้ว แต่! อย่างเพิ่งเปลี่ยนใจ จนกว่าจะอ่านจบ

ฮ็อตกว่าซุปตาร์ก็เขานี่ล่ะ อานนท์ผู้มีฟอลโลเวอร์ตามเยอะเวอร์ๆ

เสียงของชาวบ้านนั้น แม้ถูกหรี่แล้วหรี่เล่าให้แผ่วเบาเพียงใดแต่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงจำนวนมหาศาลให้ลดลงได้ อานนท์นับเป็นผู้ทรงอิทธิพลในเครือข่ายทางสังคมออนไลน์อย่างแท้จริง เขามี “ผู้ติดตาม” (follower) จำนวนมาก ทุกอย่างที่เขาโพสต์จะมีมวลชนขานรับ ส่งเสียงสะท้อน ให้ความร่วมมือฉับไว อานนท์เล่าถึงความรักของประชาชนที่ทำให้เขาแคล้วคลาดจากภยันตรายครั้งหนึ่ง (จากหลายๆ ครั้ง) ว่า

“ลูกความผมแบ่งเป็นสองส่วน หนึ่งชาวบ้านที่ไม่รู้เรื่องในคดีเลย อย่างคนที่ผมไปส่ง เขาไม่รู้เรื่องเลย โดนจับมามั่วๆ ไม่ใช่นักต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยด้วย เขาแค่ถูกกล่าวหาว่าให้คนที่ต้องคดียืมบัญชีโอนเงินผ่าน แล้วเขาก็ไม่รู้เรื่อง โดนจับมาตั้งข้อหา กับอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นนักต่อสู้ นักเรียกร้องสิทธิ ผมเคยไปทำคดีชาวบ้านชุมนุมกันวันที่ 17 พฤษภาคม 2553 ที่เชียงราย เพื่อเรียกร้องให้ยุติการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ชาวบ้านที่เชียงรายโดนจับ 5 คน คดีชุมนุมมั่วสุมฯ กลุ่มนี้เป็นนักต่อสู้

“มีอยู่ครั้งหนึ่ง ตอนสืบพยานคดีนี้ศาลจะตัดพยานเรา ผมก็เขียนคำร้องคัดค้านผู้พิพากษา ศาลโกรธมาก สักพักจะสั่งขัง ผมเลยโพสต์เฟซบุ๊ก ‘อยู่ศาลจังหวัดเชียงราย เหมือนศาลกำลังจะสั่งขังผม เพราะผมคัดค้านการตัดพยาน ซึ่งการตัดพยานทำให้ชาวบ้านไม่ได้ต่อสู้อย่างเต็มที่ แต่ถึงอย่างไรผมก็รู้สึกดีใจนะครับที่ได้มาช่วยเหลือพี่น้อง’ ตอนโพสต์ก็ใส่จริตกะล่อนๆ นิดหน่อยประสาเราลงไปด้วย โพสต์ไปปุ๊บ คนแชร์กันเยอะ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 มาศาลเชียงรายมาหาผมเองเลยแล้วเจรจา ‘คุณถอนคำร้องได้มั้ยที่ไปตั้งข้อรังเกียจผู้พิพากษา’ เราก็บอก ‘ได้ครับ ถ้าท่านขอ’ แล้วอธิบดีก็ไปขึ้นเป็นผู้พิพากษาแทน ชาวบ้านบอก ‘ถ้าขังทนายผม ก็ขังผมด้วย’  โอ้โห หล่อมาก ลงมาปุ๊บก็มีชาวบ้านมามอบดอกไม้ให้ เราก็หล่อ เรากลับไปก็กลับไปนอนรีสอร์ต กินเบียร์ เมา ตื่นขึ้นมาก็ตกเครื่อง” (หัวเราะ)

คู่ใจมีไหวพริบ

ใครอยากมีคนรู้ใจเพียบด้วยไหวพริบก็ควรพิจารณาคนรักอาชีพทนาย เช่น อานนท์บอกว่าเขามีสองเสียง เสียงที่ใช้ให้สัมภาษณ์ที่ฟังดูสบายๆ จริงใจ อบอุ่นวันนี้เป็นคนละเสียงกับตอนว่าความที่เคร่งขรึมดุดัน ใครอยากรู้ว่าเสียงนั้นเป็นอย่างไรคงต้องเอาตัวไปเป็นลูกความเขาเอง

อานนท์เล่าว่าลูกความส่วนใหญ่ไม่ค่อยบอกความจริงทั้งหมดกับทนายในตอนเริ่มต้น ซึ่งทนายต้องรู้เท่าทัน หากทนายไม่สามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงอย่างหมดเปลือกจากลูกความเสียเอง จะส่งผลให้การสู้คดีแทบจะ “ตายคาศาล” เขาจึงต้องทำทุกวิถีทางให้ได้ความจริงนั้น รวมทั้งคลุกคลีกับลูกความจนเกิดความเชื่อมั่นในกันและกัน

“ถ้าเราได้ใจกัน ถ้ามีเรื่องราวที่ทับซ้อนในการต่อสู้ เขาก็จะเล่าให้เราฟัง เราก็หาทางช่วยเขา ครั้งหนึ่งศาลเคยบอกลูกความผมว่าให้เคลียร์กับทนาย ความคิดเห็นของผมอาจไม่เป็นคุณกับเขาเท่าความคิดเห็นของศาล ลูกความผมยกมือขึ้นพูดว่า ‘ผมไม่เปลี่ยนครับ ผมต่อสู้มาด้วยกัน ผมจะเอาทนายคนนี้’ พอเราไปเจอนักสู้มันก็จะเป็นอย่างนี้ เราก็ต้องเล่นกับมันเป็น ทั้งศาล ทั้งผู้ต้องหาด้วย มวลชนด้วย”

ชายหนุ่มผู้เขียนบทกวีเป็น

“คารมเป็นต่อ รูปหล่อเป็นรอง” เป็นนิยามที่น่าจะตรงกับทนายสิทธิฯ คนโสดคนนี้ อานนท์เขียนบทกวีทั้งการเมืองและเรื่องรักคล่องคม บ่อยครั้งบทกวีที่เขาแต่งเร็วๆ มีคุณภาพยิ่งกว่าผลงานของกวีหรือนักเขียนโดยวิชาชีพ หากสาวใดชื่นชอบบทกวี ทนายหนุ่มรายนี้จะทวีเสน่ห์ทันทีทันใด 

“จริงๆ บทกวีมันทำงานของมันเยอะนะ ผมเคยเขียนบทกวีชิ้นหนึ่งให้ลูกที่พ่อเขามาชุมนุมกับเสื้อแดงแล้วโดนยิงตาย ผมตั้งชื่อว่า ‘รูปที่แขวนบนผนังยังเหมือนเดิม’ เล่าเรื่องว่าเขาพ่อมาชุมนุม ต้านรัฐประหาร แล้วพ่อเขาหายไป ลูกมองรูปพ่อที่อยู่บนผนังแล้วก็พูดเรื่องทหารที่มาล้อมปราบ สุดท้ายมองรูปที่อยู่บนผนัง รูปที่อยู่บนผนังมันก็ยังเหมือนเดิม เราเขียนจากเรื่องจริงด้วย บวกกับทัศนะทางการเมืองด้วย

“ผมชอบพวกกวีที่มันซ้ายๆ อย่างพวกจิตร ภูมิศักดิ์ นายผี แต่ถ้าเป็นร่วมสมัยก็ชอบของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อังคาร กัลยาณพงษ์ ฯลฯ  ถ้าพูดเรื่องสิทธิมันก็ตรงข้ามกับขวาอยู่แล้ว ไม่ขวาแน่ๆ ส่วนซ้ายถ้าเป็นซ้ายเลยก็แข็งนะ เราต้องประสานระหว่างซ้าย ขวา ความโรแมนติก และเรื่องสิทธิเข้าไปด้วย เวลาเราพูดเรื่องแม่ที่ไปเยี่ยมลูกที่ถูกจับ เราก็ใส่ไปในบทกวี มันจะได้น้ำหนัก ได้จุดสมดุล คนที่อ่านก็เข้าถึงได้ง่ายกว่า”

นักต่อสู้ผู้ไม่พยายามปกปิดความไม่สมบูรณ์แบบ

“เฟซบุ๊กผม ผมพยายามทำให้มันเป็นมนุษย์น่ะ คือความหล่อมันมีของมันอยู่แล้วใช่มั้ย เป็นทนายด้านสิทธิมนุษยชน ช่วยคนนั้นคนนี้มันเป็นความหล่อ ผมพยายามทำลายความหล่อลง โดยการโพสต์เงี่ยนหรืออะไรอย่างนี้ (อะไรอย่างนี้ของเขา เช่น วันนี้จะซักผ้า)  ให้มันกลายเป็นมนุษย์ แต่เรื่องความรักนี่พูดจริง ไม่ได้เสแสร้ง ก็คือทำให้เป็นเรื่องปกติ กินข้าว กินปลา กินเหล้า ซึ่งมันก็เลยกลายเป็นเพจปกติขึ้นมา บางทีผมก็ใบ้หวย เราเห็นพวกที่เล่นเฟซบุ๊กมันเล่นหวยกันเยอะก็ใบ้ พอเขาแทงผิดเขาเข้ามาด่าเรา สนุก”

ประวัติศาสตร์ความรักของอานนท์

ประวัติออกจะดีงามขนาดนี้ เมื่อถูกถามว่าทำไมถึงยังเป็นโสด อานนท์ตอบเสียงดังฟังชัดว่า “ไม่มีใครเอา” แล้วอธิบายต่อว่า “คือจริงๆ น่ะ ผมมีแฟนตอนปี 2546 เราคบกันตั้งแต่ตอนเรียนรามฯ เรียนกฎหมายด้วยกันมา แล้วก็เลิกกัน ก่อนปี 2553 เหตุที่เลิกกัน น่าจะเป็นเรื่องทัศนคติทางการเมือง เรื่องงานที่ทำด้วย ไปด้วยกันไม่ได้ ก็เลิกกันแต่โดยดี หลังจากนั้นก็โสดมาตลอด ก็ไปชอบคนนั้นคนนี้นะ ไม่ใช่ไม่ชอบ แต่เขาไม่ชอบ มันก็อกหักน่ะสิครับ”

สาวที่ใช่ต้องเป็นอย่างไร?

“ตอบลำบากนะ แต่ให้สังเกตคนที่เราชอบ สองคนหลังมามันจะมีบุคลิกคล้ายๆ กันอยู่ ก็คือน่ารัก ต้องเป็นคนน่ารัก มีศักยภาพ เก่ง”

เตือนภัยสำหรับสาวๆ

อานนท์เป็นทนายหนุ่มที่ชอบโพสต์คำว่า “คิดถึง” ลอยๆ ผ่านสายลมในเฟซบุ๊กเขาอยู่เรื่อย คำถามที่ Detectteam อยากรู้มากจึงเป็นคำถามที่ว่าความคิดถึงนั้นเขาตั้งใจส่งให้ใคร อานนท์เฉลยความลับนี้ว่า

“มันต้องดูเป็นห้วงๆ จังหวะ คือบางครั้งมันก็หมายถึงคนนี้ บางครั้งหมายถึงอีกคน บางทีเราพูดไป มันมีหลายคนเข้าใจว่าเป็นตัวเอง ซึ่งมันก็เป็นข้อดี” (หัวเราะ)

สาวๆ ที่สนใจลองไปค้นหาต่อเอาเอง อานนท์จะเข้าข่ายหนุ่มในฝันของใครหรือไม่ คงขึ้นอยู่กับว่าสาวคนนั้นฝันถึงอะไร และเท่าทันปฏิภาณทนายน้อยๆ ได้แค่ไหน สุดท้ายของท้ายสุด ทางทนายอานนท์ฝากบอกผู้หญิงคนนั้นด้วยว่า

“คิดถึง”.